ปฐมบท ฉือจี้ในประเทศไทย

        จากสงครามกลางเมืองจีน ระหว่างชาตินิยมกับคอมมิวนิสต์ เมื่อปี พ.ศ.2492 กองกำลังทหารสัญชาติยูนนาน ได้เดินทางระหกระเหินจากพม่ามาจนถึงภาคเหนือของไทย นับแต่นั้นเป็นต้นมา ลูกหลานของพวกเขาจึงตั้งถิ่นฐานอยู่บนยอดเขาสูง ฐานะครอบครัวยากลำบากเนื่องจากไม่มีรายได้ จนได้รับสมญานามว่า “เด็กกำพร้าแห่งเอเชีย”

        ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สถานะของผู้ลี้ภัยเสมือนหนึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ จองจำพวกเขาไว้ท่ามกลางขุนเขา ด้วยโชคชะตานี้เอง ทำให้ความยากจนเปรียบเสมือนกุญแจมือ ที่พันธนาการไม่ให้พวกเขาได้ก้าวไปสู่ความฝัน

        วันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2537 คุณเจี่ยงเซี่ยวเอี๋ยน ประธานสภากิจการโพ้นทะเลแห่งไต้หวัน เดินทางเข้าพบท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน เพื่อรายงานถึงความยากลำบากของพี่น้องที่อาศัยอยู่บนยอดเขาสูงทางภาคเหนือของไทย พร้อมทั้งขอให้ฉือจี้ไปช่วยเหลือพวกเขา ด้วยความเมตตากรุณาของท่านธรรมาจารย์ จึงเป็นมูลเหตุให้ฉือจี้ได้เข้ามาสู่ภาคเหนือของไทย จากนั้นในวันที่ 18 เมษายน ปีเดียวกัน ทีมสำรวจภัยของฉือจี้ จึงได้เดินทางเข้าสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องผู้ลี้ภัยรวม 28 หมู่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายเป็นครั้งแรก

 

our-thialand-2

                   ภิกษุณีเต๋อหมิน คณะสำรวจและประเมินความช่วยเหลือของฉือจี้ เดินทางไปเยี่ยมเยียนลูกหลานของผู้ลี้ภัย ในหมู่บ้านชาญหลง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

 

        คุณเฉินลี่หน่วน นักธุรกิจชาวไต้หวันที่มาลงทุนในไทย เคยไปเยือนอินโดนีเซีย ในเดือนเมษายน พ.ศ.2536 และได้รับเทปธรรมเทศนาของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน จากจิตอาสาฉือจี้ในพื้นที่ ได้แปรเปลี่ยนความประทับใจในการฟังธรรมเทศนา มาเป็นแรงผลักดันในการลงมือทำ ท่านแบ่งปันเรื่องราวของฉือจี้แก่ญาติมิตรที่พบเจอ พร้อมทั้งเชิญชวนให้ทุกคนร่วมบริจาคทรัพย์ ลงมือทำความดี โดยในช่วงแรกนั้น คุณเฉินลี่หน่วนจะนำเงินที่ได้รับบริจาค กลับไปมอบให้สำนักงานใหญ่ฉือจี้ ที่ฮวาเหลียน ไต้หวัน แต่ท่านธรรมาจารย์ได้ชี้แนะว่า “เมื่ออาศัยอยู่ใต้ผืนฟ้า ยืนอยู่บนผืนแผ่นดินใด ก็ต้องรู้จักตอบแทนบุญคุณผืนแผ่นดินนั้น” นับจากนั้นเป็นต้นมา คุณเฉินลี่หน่วนจึงร่วมกับจิตอาสาในพื้นที่ ผลักดันภารกิจฉือจี้บนผืนแผ่นดินไทย แม้ในตอนนั้นจะยังไม่มีสำนักงาน ต้องสลับหมุนเวียนไปจัดการประชุมตามบ้านของเหล่าจิตอาสา แต่ความไม่สะดวกสบายเหล่านี้ กลับไม่เป็นอุปสรรคใดๆ เพราะไม่มีสิ่งใดยากเกินความตั้งใจ

 our-thialand-4

แม้ในช่วงแรกจะยังไม่มีสำนักงานฉือจี้ ทุกเดือนจึงต้องสลับหมุนเวียนไปจัดการประชุมแผนกิจกรรมตามบ้านของอาสาสมัคร แต่ความไม่สะดวกสบายเหล่านี้ กลับไม่เป็นอุปสรรค

ใดๆ ทุกคนต่างทุ่มเททำงานจิตอาสาด้วยความตั้งใจ

 

       ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2538 เมื่อมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวัน ดำเนิน “โครงการสงเคราะห์ภาคเหนือของไทยต่อเนื่องสามปี” ซึ่งประกอบด้วยการก่อสร้างหมู่บ้านต้าอ้าย พัฒนาเทคนิคเกษตรกรรม ดูแลบ้านพักคนชรา สงเคราะห์คนยากไร้และมอบทุนการศึกษาสำเร็จตามวาระ จึงได้เริ่มโครงการแห่งปัญญาต่อ โดย “ก่อสร้างโรงเรียนฉือจี้เชียงใหม่” ขึ้น ระหว่างนี้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2538 จุดติดต่อฉือจี้ในประเทศไทยก็ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ

 

our-thialand-3

วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2543 อาสาสมัครฉือจี้ขอขอบพระคุณแขกผู้มีเกียรติที่ให้เกียรติมาเข้าร่วมพิธีเปิดใช้อาคารสำนักงานมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก

ซอย3 เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

 

      จิตอาสาฉือจี้รุ่นแรกในเมืองไทย ซึ่งประกอบด้วย คุณมนภรณ์ หัสดินไพศาล คุณลัดดา เจริญสวัสดิชัย และคุณชนิตา สุริยมานพ เดินทางเป็นระยะทางกว่า 900 กิโลเมตร จากกรุงเทพมหานครไปถึงอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นกำลังสนับสนุนให้เหล่าจิตอาสาจากไต้หวัน พร้อมทั้งเรียนรู้และพัฒนาการทำงานจิตอาสา จนกระทั่ง วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2541 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้อนุญาตให้จัดตั้งมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทยขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้น วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 กระทรวงการคลังได้ประกาศกำหนดให้มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวัน ในประเทศไทย เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศลลำดับที่ 920

      จากเมล็ดพันธุ์ฉือจี้เมล็ดแรกในเมืองไทย “คุณเฉินลี่หน่วน” จนถึงวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม ราชบุรี สงขลา และภูเก็ต ล้วนมีจิตอาสาฉือจี้ทุ่มเททำงานในพื้นที่

 

our-thialand-1

     วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2559 พิธีเปิดสถานธรรมจิ้งซือ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ภายในประกอบด้วยพื้นที่สำนักงาน ศูนย์การเรียนรู้เพื่อชุมชน ศูนย์การเรียนรู้เพื่อ

     อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศูนย์บริการตรวจรักษาโรคฟรี โดยได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2557 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2558