หนุ่มน้อยรูปร่างสันทัดในชุดเครื่องแบบร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง ยามสายแก่ๆ นายกสิกร หรือ น้องอาร์ต หนุ่มน้อยวัย 19 ปี ในวันนี้ ยกมือไหว้อย่างนอบน้อม ก่อนจะกล่าวทักทายด้วยรอยยิ้มที่ดูเขินอาย เพื่อเบี่ยงความสนใจของทุกคนออกจากสายตาที่ดูอิดโรยเล็กน้อย หลังจากเข้ากะทำงานมาตลอดทั้งคืน เขาเป็นหนึ่งในนักเรียนที่ฉือจี้รู้จักผ่าน “โครงการสงเคราะห์ทุนการศึกษา ต้นกล้าแห่งความหวัง” เมื่อปี พ.ศ. 2554 จากนั้นจึงเริ่มให้การสงเคราะห์ดูแลระยะยาว ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาเกือบสิบปี
ฉือจี้เยี่ยมบ้าน ให้การช่วยเหลือเพิ่มเติม
“...อยากช่วยทางบ้าน แบ่งเบาภาระครอบครัว” ตัวอักษรคะยึกคะยือ ที่บรรจงเขียนด้วยลายเส้นดินสอสีดำ คือ ความวาดหวังที่น้องอาร์ต ในวัย 10 ขวบ เขียนใน “รายงานตรวจเยี่ยมนักเรียนทุนการศึกษาฉือจี้” ที่กำหนดให้ผู้ขอทุนต้องเขียนเหตุผลการขอทุนด้วยตนเอง ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2554 จากโครงการสงเคราะห์ทุนการศึกษาฉือจี้ “ต้นกล้าแห่งความหวัง” ที่เริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีการศึกษา พ.ศ.2554 เพื่อเข้าไปช่วยเหลือเคียงข้างนักเรียนที่ความประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หลังจากทางโรงเรียนแจ้งรายชื่อนักเรียนที่มีความประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์เข้ามา จิตอาสาฉือจี้จึงได้ดำเนินการเยี่ยมบ้าน ไม่ใช่เพื่อจับผิด แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังเกตุว่า จะสามารถช่วยเหลือ “เพิ่มเติม” อะไรได้บ้าง
น้องอาร์ตเขียนเหตุผลในการขอทุนการศึกษาฉือจี้ “ต้นกล้าแห่งความหวัง”
จิตอาสาฉือจี้ แวะเวียนไปเยี่ยมเยียนน้องอาร์ตและครอบครัว ที่บ้านเพื่อติดตามสภาพความเป็นอยู่
หลังออกจากงานรับจ้างเก็บขยะมูลฝอยของสำนักงานเขต พ่อแม่ของน้องอาร์ตซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร จึงได้แต่หอบหิ้วบุตรชาวคนโตมาสร้างบ้านบนที่ดินบุกรุกของทางราชการตั้งแต่ก่อนน้องอาร์ตเกิด พื้นบ้านประกอบขึ้นจากแผ่นไม้เก่าหลายแผ่นวางทับซ้อนกันคนละทิศละทาง ผนังประกอบขึ้นจากแผ่นป้ายโฆษณาที่เก็บมาจากข้างทาง กลายเป็น “บ้าน” ที่คอยกันลมกันฝนให้กับสมาชิกครอบครัวน้องอาร์ต ทั้ง 6 คน รายได้จากคุณพ่อที่ทำงานรับจ้างทั่วไป และคุณแม่ที่ตั้งแผงขายผัก ไม่เพียงพอช่วยจุนเจือคนในครอบครัว ฉือจี้จึงยื่นมือเข้าให้ความช่วยเหลือ ด้วยการรับเป็นหนึ่งในครอบครัวที่ให้การดูแลระยะยาว มอบเงินสงเคราะห์ความเป็นอยู่เป็นประจำทุกเดือนตั้งแต่ พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา
จิตอาสาฉือจี้ แวะเวียนไปเยี่ยมเยียนน้องอาร์ตและครอบครัว ที่บ้านเพื่อติดตามสภาพความเป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง
ทำงานเพื่อแลกประสบการณ์ชีวิต
หลังจากพี่ชายคนโตแต่งงาน ก็แยกออกไปดูแลครอบครัวของตัวเอง น้องอาร์ตในฐานะพี่คนรองจึงต้องเป็นกำลังหลักในการดูแลน้องๆ อีกสองคน ยามที่พ่อแม่ออกไปทำงาน วันไหนแม่ไม่สบายออกไปขายผักไม่ได้ น้องอาร์ตก็ต้องรับหน้าที่แทน “ถ้าแม่ไปไม่ไหว ผมก็จะออกมาคนเดียว มาตั้งแผงเอง ขายเอง พอถึงเวลาสี่ทุ่มผมก็เก็บของกลับบ้านครับ” เด็กชายตัวน้อยพยายามช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวอย่างสุดความสามารถ แม้หลังเลิกเรียนกลับมา ก็ยังช่วยงานตั้งแผงขายผักต่อตั้งแต่ 18.00-22.00 น.
จิตอาสาฉือจี้นำน้องอาร์ต ไปร่วมเป็นจิตอาสาดูแลผู้ยากไร้ในชุมชนต่างๆ เพื่อปลูกฝังจิตสาธารณะ
แม้จะได้รับเงินสงเคราะห์ความเป็นอยู่จากฉือจี้เป็นประจำทุกเดือน แต่เพื่อสานฝันของตนเองที่ต้องการช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว น้องอาร์ตจึงตัดสินใจศึกษาต่อในระดับ ปวช. และเริ่มทำงานไปด้วย เรียนไปด้วยในร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง ทำให้เขารู้จักแบ่งเวลาให้ลงตัว และใช้เวลาอย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น “การแบ่งเวลาของผมก็ คือ หลังเลิกเรียน พอกลับจากโรงเรียนปุ๊บ เราก็ไปทำงาน หลังเลิกงานปุ๊บ เราก็กลับไปพักผ่อนให้เต็มที่ พรุ่งนี้ก็ไปโรงเรียนใหม่” ฟังดูเหมือนง่าย แต่การไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านพ้นไปโดยเปล่าประโยชน์กับเรื่องสัพเพเหระ เป็นสิ่งที่น้องอาร์ตต้องใช้ความอดทนพากเพียรและความอุตสาหะเพื่อก้าวข้ามมา จนสำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. ได้อย่างราบรื่นในวันนี้ “ผมได้เรียนรู้ว่าการทำงานนั้นมันเหนื่อย แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับชีวิตผมครับ” น้องอาร์ตกล่าว
ในชั้นเรียนต้นกล้าคุณธรรม น้องอาร์ตร่วมกับเพื่อนๆ เรียนรู้วิธีการคัดแยกสิ่งของรีไซเคิล
ต้นกล้าคุณธรรม บ่มเพาะระเบียบวินัย
ในการมอบเงินสงเคราะห์ความเป็นอยู่เป็นประจำทุกเดือน จิตอาสาฉือจี้ยังอาศัยโอกาสนี้ จัดอบรม “ต้นกล้าคุณธรรม” ให้กับบุตรหลานของผู้ด้อยโอกาสที่รับความช่วยเหลือจากฉือจี้ เพื่อหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีลงในจิตใจของเด็กๆ ให้พวกเขาตระหนักว่า ตนเองคือความหวังของครอบครัวและสังคมในวันข้างหน้า โดยถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต นอกจากคุณธรรมความกตัญญู ความรับผิดชอบและจิตสาธารณะช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนแล้ว จิตอาสาฉือจี้ยังได้แนะนำเทคนิคประสบการณ์ชีวิตต่างๆ อาทิ การกวาดบ้าน การถูพื้น การพับผ้า เป็นต้น เพื่อปลูกฝังความรับผิดชอบและระเบียบวินัยให้กับพวกเขา ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานที่ดี ทำให้น้องอาร์ตสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานในร้านสะดวกซื้อได้ “เราสามารถนำความรู้ที่ฉือจี้สอนไปใช้ในร้านได้เลยครับ ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาด หรือการพับผ้าเพื่อใช้ในการเช็ดถู เพราะมันเป็นงานที่เราต้องทำอยู่แล้วครับ” น้องอาร์ตกล่าว
น้องอาร์ตตั้งใจทำงานในร้านสะดวกซื้อ เพื่อสานฝันของตนเองและครอบครัว
วันนี้น้องอาร์ตกำลังจะเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ในสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และยังคงมุ่งมั่นที่จะเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยเหมือนเดิม ไม่ใช่แค่เพียงสานฝันของตนเอง แต่เพื่อทำความปรารถนาของพ่อแม่ให้เป็นจริง “แม่ฝากฝังผมเอาไว้ว่า อยากให้ผมเรียนจบ ป.ตรี แล้วก็เอาวุฒิปริญญาไปให้แม่ครับ”
น้องอาร์ตยังบอกเล่าความใฝ่ฝันในอนาคตของตนเองว่า “ผมอยากเป็นผู้จัดการร้านสะดวกซื้อ เพื่อถ่ายทอดความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ให้กับรุ่นน้องๆ ต่อไปครับ” นอกจากการหารายได้ที่มั่นคงมาจุนเจือครอบครัวแล้ว อีกด้านหนึ่งน้องอาร์ตยังหวังว่า จะนำประสบการ์ณที่ตนเองผ่านพ้นมา มาช่วยเป็นแรงผลักดันให้กับคนรุ่นหลัง ให้คำปรึกษาและแนะนำคนที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสที่ดีในชีวิตของตนเอง แม้จะต้องเหน็ดเหนื่อยมากขึ้นกว่าคนอื่นเท่าตัว แต่เมื่อผ่านพ้นมาได้ ความอดทนและความพยายามที่พวกเขาบ่มเพาะมา จะติดตัวพวกเขาไปตลอด และขอให้เชื่อมั่นว่า เราทุกคนล้วนมีศักยภาพไม่รู้จบ และเป็น “เมล็ดพันธุ์ความหวัง” ของสังคมอย่างแท้จริง
เรื่อง บุษรา สมบัติ ภาพ วีระชัย ทาบุญสม ณัฐธยาน์ ธนัทกิตติพงศ์