1
ให้ความรู้เรื่องรักษ์โลก บ่มเพาะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
Happy Earth Day!!!....... Happy Earth Day เด็กๆพร้อมใจกันเปล่งเสียงเฉลิมฉลองวันสิ่งแวดล้อมโลกที่กำลังจะมาถึงใน 6 มิถุนายนอย่างไร้เดียงสา โดยกิจกรรมบริการชุมชน รักษาพยาบาลในเดือนนี้ เจ้าหน้าที่แปลภาษาในจุดเรียนรู้สำหรับเด็ก อาศัยกิจกรรมการวาดภาพให้เด็กๆเข้าใจถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และยังพูดคุยโต้ตอบกับเด็ก ๆอย่างสนุกสนาน เพื่อทำให้พวกเขาเข้าใจถึงวิธีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
เจ้าหน้าที่แปลภาษา :ต้นไม้ให้อะไรแก่เราคะ
เด็ก ๆ : ออกซิเจนครับ/ค่ะ
เจ้าหน้าที่แปลภาษา :เวลาที่เราหายใจ เราสูดอะไรเข้าไปคะ
เด็ก ๆ :อากาศ (ออกซิเจน)ครับ/ค่ะ
เจ้าหน้าที่แปลภาษา :ถ้าเราอยากมีออกซิเจนเยอะ ๆ เพียงพอต่อการหายใจของเรา เราต้องทำยังไงล่ะคะ
เด็ก ๆ :ปลูกต้นไม้ครับ/ค่ะ
เจ้าหน้าที่แปลภาษา : เราต้องปลูกอะไรนะคะ
เด็ก ๆ : ต้นไม้ค่ะ/ครับ
เจ้าหน้าที่แปลภาษา :เก่งมาก ๆ ค่ะ ปรบมือให้ตัวเองหน่อยค่ะ
▲เจ้าหน้าที่แปลภาษาในจุดเรียนรู้สำหรับเด็ก อาศัยกิจกรรมการวาดภาพและยังพูดคุยโต้ตอบ ให้เด็กๆเข้าใจถึงวิธีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
▲Happy Earth Day!!! เด็ก ๆ พร้อมใจกันเปล่งเสียงเฉลิมฉลองวันสิ่งแวดล้อมโลกอย่างไร้เดียงสา
นี่ก็คือกิจกรรมบริการชุมชน รักษาพยาบาลฟรีที่จัดขึ้นในแต่ละเดือน ซึ่งไม่เพียงให้บริการด้านการแพทย์แก่ผู้เจ็บป่วย หากยังมุ่งมั่นผลักดันการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปในขณะเดียวกัน นอกจากมุมเรียนรู้สำหรับเด็กแล้ว ครั้งนี้ในจุดรอพบแพทย์ ยังได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่แปลภาษาแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่ผู้ป่วยอีกด้วย
คุณวิลเลียม หัวหน้าเจ้าหน้าที่แปลภาษาจุดรอพบแพทย์ จัดเตรียมข้อมูลมามากมาย ทั้งยังหยิบยืมสินค้าของเทคโนโลยีกั่นเอินต้าอ้าย อาทิเช่น เสื้อผ้า กระเป๋าใส่ของใบเล็ก ถุงผ้า ฯลฯ ซึ่งเดิมทีวางจำหน่ายในร้านหนังสือจิ้งซือ มายกตัวอย่างแบ่งปันแก่ผู้ป่วยที่จุดรอพบแพทย์ว่า “อย่างเช่นเสื้อตัวนี้ ทำมาจากการรีไซเคิลขวดพลาสติก 7 ขวด ซึ่งเราสามารถทราบได้จากป้ายผลิตภัณฑ์ เสื้อตัวนี้มหัศจรรย์มากเลยครับ ทั้งน้ำหนักเบา และก็ซักทำความสะอาดง่ายมากครับ”
▲คุณวิลเลียม เจ้าหน้าที่แปลภาษา นำผลิตภัณฑ์ของเทคโนโลยีกั่นเอินต้าอ้าย แบ่งปันกับทุกคนว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้รีไซเคิลมาจากขวดน้ำพลาสติก
เมื่อได้รับฟังการแบ่งปันจากเจ้าหน้าที่แปลภาษา คุณความาร์ จึงได้ทราบว่า ยังมีขยะบางอย่างที่สามารถนำมารีไซเคิล หรือใช้ซ้ำได้ คุณความาร์ แบ่งปันว่า “เราต้องเรียนรู้การนำขยะมารีไซเคิล มาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์ หากเราทำได้ ก็จะสามารถลดการใช้พลังงาน ประหยัดเวลาและเงินได้ครับ”
2
รณรงค์การรักษ์โลก ด้วยการรับประทานอาหารมังสวิรัติ
กิจกรรมบริการชุมชน รักษาพยาบาลฟรีในแต่ละเดือน มักจะจัดให้จิตอาสาฉือจี้ในแต่ละเขต สับเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่เตรียมอาหารมื้อเที่ยงบริการบุคคลากรทางแพทย์และจิตอาสาที่มาร่วมกิจกรรม อีกส่วนคือกลุ่มพนักงานครัวผู้ลี้ภัย ซึ่งพวกเขาจะช่วยเตรียมอาหารมื้อเที่ยงสไตล์บ้านเกิด บริการผู้ป่วยที่มารับบริการรักษา โดยอาหารที่นำมาบริการทุกคนในสถานธรรมจิ้งซือแห่งนี้ ล้วนเป็น “อาหารมังสวิรัติ” ซึ่งไม่เพียงทำให้ทุกคนอิ่มท้อง หากยังลดการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ ดีต่อสุขภาพร่างกาย ทั้งยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
เมื่อทราบว่าอาหารมังสวิรัติมื้อเที่ยงที่ฉือจี้นำมาบริการในกิจกรรมรักษาพยาบาลฟรี มีประโยชน์มากมายหลายด้านเช่นนี้แล้ว คุณแพรวรัตน์ จิระพิพรรษ พยาบาลจากโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ก็รู้สึกปีติยินดีและแบ่งปันความรู้สึกว่า “เราไม่ได้เข่นฆ่าสัตว์ให้มาเป็นอาหารของพวกเรา แต่เราจะช่วยกันปลูกผัก รับประทานผลไม้ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นและสวยงามค่ะ”
นายแพทย์คชาณัฐ พานสุข ก็แบ่งปันความรู้สึกว่า “ดีใจที่นอกจากได้ช่วยในเรื่องรักษ์โลกแล้ว ยังรู้สึกว่าตนเองเป็นแบบอย่างที่ดีเรื่องการดูแลสุขภาพ ดูแลตัวเองให้กับคนไข้ครับ”
▲อาหารที่นำมาบริการทุกคนในสถานธรรมจิ้งซือแห่งนี้ ล้วนเป็น “อาหารมังสวิรัติ”
ซึ่งไม่เพียงอิ่มท้อง หากยังลดการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ ดีต่อสุขภาพร่างกาย ทั้งยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
▲ทุกคนร่วมรับประทานอาหารมังสวิรัติมื้อเที่ยงด้วยความปีติ
3
DIY สิ่งไร้ค่าให้กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์
ที่ผ่านมา มีผู้ใจบุญนำเสื้อผ้ามือสองมาบริจาคให้ฉือจี้ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้อื่นเรื่อยมา ยิ่งนานวันปริมาณเสื้อผ้ามือสองก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้พื้นที่จัดเก็บไม่เพียงพอ แม้ว่าจิตอาสาฉือจี้จะนำเสื้อผ้าเหล่านี้ส่งต่อแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ และเมื่อกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ยังแจกจ่ายให้ผู้ป่วยที่มารับบริการรักษาในกิจกรรมรักษาพยาบาลฟรี อีกทั้งในพิธีอธิษฐานบุญส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา ยังนำเสื้อผ้ามือสองเหล่านี้มาจำหน่ายเพื่อการกุศล จึงเห็นได้ว่า ปริมาณเสื้อผ้าอาจลดลงบ้าง ทว่า ยังมีบางส่วนที่เป็นเสื้อผ้าเก่ามาก ๆ ซึ่งยากต่อการจัดการ แต่หากจะนำไปทิ้งก็น่าเสียดาย
ต่อมา พบว่า “มูลนิธิ สโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์” หรือเป็นที่รู้จักในชื่อว่า “มูลนิธิรักษ์อาหาร” ซึ่งนำอาหารมามอบให้ผู้ที่มารับบริการรักษาในทุกๆเดือนนั้น จิตอาสามักจะใช้ถุงผ้าบรรจุอาหาร แต่ถ้าหากถุงผ้าหมดก็จะใช้ถุงพลาสติกแทน ฉะนั้น เพื่อช่วยสนับสนุนงานของมูลนิธิรักษ์อาหาร และผลักดันสิ่งแวดล้อมไปในขณะเดียวกัน จิตอาสาฉือจี้จึง DIY เปลี่ยนสิ่งไร้ค่าให้กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ คุณสุวรรณี ชัยธนานิติพงษ์ แบ่งปันว่า “เราก็นำเสื้อผ้ามือสองที่เก่าหน่อยมาดัดแปลง มาแปรรูปเป็นถุงผ้า เพื่อให้พวกเขามีถุงใส่สิ่งของกลับบ้าน อันนี้ก็คืออีกทางหนึ่งที่ช่วยโลกเหมือนกัน”
ขั้นตอนการทำง่ายๆ เพียงแค่ตัดชายเสื้อเป็นเส้นเล็กๆ จากนั้นเส้นเล็ก ๆ ของเสื้อทั้งสองด้านผูกติดกัน เท่านี้เสื้อผ้ามือสองก็กลายเป็นถุงผ้ารักษ์โลกแล้ว ผู้รับต่างก็ปิติยินดี เพราะถุงผ้าหลากหลายรูปแบบนี้ มีอาหารแห่งความรักบรรจุเต็มถุง และถุงผ้าที่ใช้บรรจุอาหาร ยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
▲คุณรัชนี ถวัลย์วิชชจิรา (จิตอาสาเสื้อเทา) สอนนักเรียนทำถุงผ้ารักษ์โลกจากเสื้อผ้ามือสอง
▲ขั้นตอนการทำง่าย ๆ เพียงแค่ตัดชายเสื้อเป็นเส้นเล็กๆ จากนั้นเส้นเล็ก ๆ ของเสื้อทั้งสองด้านผูกติดกัน เท่านี้เสื้อผ้ามือสองก็กลายเป็นถุงผ้ารักษ์โลกแล้ว
4
หั่นส่วนตำหนิทิ้งไป ใช้ประโยชน์จากผักผลไม้ให้คุ้มค่า
มูลนิธิรักษ์อาหาร เริ่มร่วมมือกับมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย ตั้งแต่กันยายน 2560 โดยมูลนิธิรักษ์อาหารจะนำอาหารใกล้หมดอายุที่ได้รวบรวมจากโรงแรม ซุปเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร มาแจกจ่ายให้ผู้ที่มารับบริการรักษาในกิจกรรมรักษาพยาบาลฟรีแต่ละเดือน ซึ่งอาหารที่นำมาบริจาคส่วนใหญ่เป็นผักผลไม้ แม้ว่าผักผลไม้เหล่านี้จะไม่ได้มาตรฐานสำหรับจัดจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ทว่า ก็ยังคงมีคุณภาพดี และสามารถนำมาบริโภคได้
หลายเดือนที่ผ่านมาพบว่า ผักผลไม้บางส่วนมีตำหนิ จิตอาสาของมูลนิธิรักษ์อาหารจึงไม่ได้นำมาแจกจ่ายให้ผู้ลี้ภัย แต่เมื่อนำผักผลไม้ที่กองรวมเพื่อเตรียมเอาไปทิ้งมาดูอย่างละเอียดแล้ว พบว่า ผักผลไม้เหล่านี้มีเพียงตำหนิภายนอก เช่น กะหล่ำปลีที่มีใบนอกเหี่ยวช้ำ เพียงแค่แกะออกก็ใช้ได้แล้ว หรือแอปเปิ้ล ที่มีรอยช้ำเล็กน้อย ซึ่งเพียงหั่นรอยช้ำออกไปก็สามารถรับประทานได้ตามปกติ
ดังนั้น เพื่อให้ผักผลไม้แห่งความรักเหล่านี้ ได้ถูกนำมาบริโภคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในวันกิจกรรมรักษาพยาบาลฟรี จิตอาสาจึงช่วยกันนำผลไม้มาหั่นส่วนที่มีตำหนิออก และนำส่วนที่ดีหั่นเป็นชิ้นๆให้ผู้ที่มารับบริการรักษาได้รับประทาน เช่นนี้แล้ว พวกเขาจึงได้รับประทานผลไม้สดเพิ่มจากอาหารมื้อเที่ยงเดิมอีก 1 อย่าง ส่วนผักผลไม้ที่เน่าเสีย จิตอาสาฉือจี้ก็นำไปทำน้ำหมักชีวภาพต่อไป
จิตอาสาจากมูลนิธิรักษ์อาหาร คุณเทเรซ่า แบ่งปันว่า “ฉันคิดว่ามันดีมาก ฉันได้มาช่วยเมื่อเดือนก่อน และคราวนี้มีของเหลือน้อยลงจากเดือนที่แล้วมาก แล้วก็เป็นสิ่งดีที่ได้รู้ว่าเด็กๆจะได้ทานของวันนี้เลย ทำให้ของเหลือยิ่งเหลือน้อยลงไปอีก มันดีมากๆเลย ฉันประทับใจที่นักเรียนเหล่านี้มาช่วยกันหั่นผลไม้กัน”
เมื่อเห็นฉือจี้สามารถจัดการกับอาหารได้เช่นนี้แล้ว คุณ Bo H. Holmgreen ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารมูลนิธิรักษ์อาหาร ก็แบ่งปันว่า “ฉันคิดว่ามันเยี่ยมมากเลย และเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การร่วมมือกันนี้เป็นสิ่งที่พิเศษ เพราะปกติแล้วเราจะนำอาหารเหล่านี้ไปตามสถานที่ๆมีความต้องการสูงต่างๆ แต่ที่นี่เราได้เป็นส่วนหนื่ง ร่วมเคียงข้างไปกับกิจกรรมรักษาพยาบาล”
แม้อาจจะเป็นเพียงแค่กระทำที่แสนธรรมดา แต่ด้วยความทุ่มเทของทุกคน ทำให้สามารถลดปัญหามลภาวะได้ ในขณะเดียวกันยังทำให้ทุกคนได้เข้าใจว่า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ง่าย “แค่เริ่มลงมือทำจากตัวเราเอง ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว”
▲เช่นนี้แล้ว ผู้มารับบริการรักษาในกิจกรรมรักษาพยาบาลฟรี จึงได้รับประทานผลไม้สดเพิ่มจากอาหารมื้อเที่ยงเดิมอีก 1 อย่าง
▲ส่วนผักผลไม้ที่เน่าเสีย จิตอาสาก็นำไปทำน้ำหมักชีวภาพต่อไป
เรื่อง คุณดรรชนี สุระเทพ ภาพ คุณพิณญธิชา จันทร์สุขศรี คุณดรรชนี สุระเทพ