นับตั้งแต่ พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา ฉือจี้ประเทศไทยเริ่มให้บริการดูแลสุขภาพแก่ผู้ป่วย โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและเผ่าพันธุ์ ผ่านโครงการบริการชุมชน รักษาพยาบาลฟรี ต่อมา ในปี พ.ศ. 2561
โครงการสนับสนุนการศึกษาของฉือจี้ประเทศไทย จึงได้ขยายโอกาสไปสู่เหล่าเยาวชนที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนาและเผ่าพันธุ์เช่นกัน
เนื่องจากจิตอาสาฉือจี้ เชิญผู้ลี้ภัยชาวศรีลังกามาเป็นเจ้าหน้าที่ล่ามแปลในโครงการบริการชุมชน รักษาพยาบาลฟรี พวกเขาจึงเข้าใจดีว่า ความรักอันยิ่งใหญ่ของฉือจี้ก้าวข้ามความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและเผ่าพันธุ์ ดังนั้นวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2561 หนึ่งในผู้ลี้ภัยชาวศรีลังกา จึงได้ส่งอีเมลของความอนุเคราะห์ด้านการศึกษามายังฉือจี้ประเทศไทย
คุณสุกัญญา ริมพนาเวศ ประธานบริหารมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย บอกเล่าถึงความเป็นมาของโครงการสนับสนุนการศึกษานี้ว่า “ท่านธรรมาจารย์เคยกล่าวไว้ว่า ความหวังของพ่อแม่อยู่ที่ลูก ความหวังของลูกอยู่ที่การศึกษา ดังนั้นเมื่อทราบว่ามีเด็กๆ ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือด้านการศึกษา เราจึงยินดีที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือค่ะ”
▲ภาพห้องเรียนกลางแจ้งของคุณครูและนักเรียนชาวศรีลังกา
ชั้นเรียนของพวกเขาเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ด้วยความอนุเคราะห์สถานที่จากโบสถ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร และความตั้งใจของครูจิตอาสา 4 คน โดยจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาทมิฬ วิชาคณิตศาสตร์และวิชาภาษาอังกฤษ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับต้น ระดับกลางและระดับสูง ให้กับเด็กๆ 19 คน ในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 14.00-18.00 น.
หลังจากจิตอาสาฉือจี้ดำเนินการสำรวจและประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว จึงตัดสินใจให้ความช่วยเหลือ โดยมอบค่าเดินทางช่วยเหลือคุณครูจิตอาสาย้อนหลัง ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม (คนละ 800 บาท/เดือน) พร้อมทั้งมอบเครื่องเขียน ซึ่งประกอบด้วยสมุด ดินสอ ปากกา ยางลบและไม้บรรทัด ให้กับนักเรียน 19 คน นอกจากนี้ยังอนุเคราะห์โน้ตบุ๊คและเครื่องพิมพ์ให้ยืมใช้ เพื่อช่วยสานฝันการศึกษาให้พวกเขาทุกคน
▲ภาพห้องเรียนกลางแจ้งของคุณครูและนักเรียนชาวศรีลังกา
▲เครื่องเขียนที่จิตอาสาฉือจี้มอบช่วยเหลือนักเรียนศรีลังกา
1
การศึกษารอช้าไม่ได้
“เราต้องฝ่าฟันอุปสรรคเยอะมากค่ะ ไม่ว่าจะเป็นฝนตกหรือแสงแดดที่สาดเข้ามา เพราะว่าเราไม่มีห้องเรียน” คุณครูจานา ผู้สอนภาษาทมิฬบอกเล่าความในใจ ของการสอนนักเรียนในห้องเรียนกลางแจ้ง
เสียงของคุณครูแข่งขันประชันกับเสียงสายฝนที่ตกลงมาอย่างไม่ขาดสาย คุณครูจิตอาสาทั้ง 4 คน ต่างสลับหมุนเวียนให้ความรู้เด็กๆ ด้วยความตั้งใจ เด็กๆ เองก็นั่งฟังการบรรยายอย่างใจจดใจจ่อ ในบรรดานักเรียนทั้ง 19 คนของชั้นเรียนนี้ ประกอบด้วยเด็กวัยเพียง 5 ขวบ ไปจนถึงวัยรุ่นอายุ 19 ปี เนื่องจากนักเรียนบางคนถือกำเนิดเกิดในไทย และด้วยความอนุเคราะห์ของ Bangkok Refugee Center: BRC จึงได้เข้าเรียนในสถานศึกษาของไทย และสามารถฟังพูดอ่านเขียนภาษาไทยได้ ทว่ากลับไม่คุ้นเคยกับภาษาทมิฬ ซึ่งเป็นภาษาบ้านเกิดของพวกเขาเอง ดังนั้น ด้วยความรักของคุณครูจิตอาสาทั้ง 4 คน จึงได้จัดชั้นเรียนนี้ขึ้น เพื่อเตรียมการให้พวกเขา เมื่อต้องไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ณ ประเทศที่สามในวันข้างหน้า
คุณครูจานา อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของการสอนภาษาทมิฬให้กับนักเรียนของตนว่า “ก็เพื่ออนาคตที่ดีของเหล่าลูกศิษย์ค่ะ เพราะเราไม่รู้ว่า วันหนึ่งหากพวกเขาถูกส่งกลับไปศรีลังกา หรือได้มีโอกาสไปประเทศที่ 3 อาจจะมีโอกาสได้ทำงานกับคนศรีลังกาด้วยกัน ดังนั้น การสื่อสารฟังพูดอ่านเขียนภาษาทมิฬได้ จึงมีความสำคัญกับพวกเขาเป็นอย่างมาก”
2
ฉือจี้สงเคราะห์การศึกษา สร้างรอยยิ้มสู่ครูและนักเรียนผู้ลี้ภัย
“นิคซาน” หนึ่งในนักเรียนซึ่งลี้ภัยมาประเทศไทยเป็นระยะเวลากว่าสามปีแล้ว บอกเล่าว่าวันจันทร์ – ศุกร์ เขาต้องไปเข้าเรียนในสถานศึกษาของไทย ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ก็มาเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาทมิฬและคณิตศาสตร์เพิ่มเติมที่นี่ วันนี้ได้รับความช่วยเหลือจากฉือจี้ ทำให้ตนเองและเพื่อนๆ รู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง “ขอบคุณมากครับ สิ่งที่พวกคุณมอบให้ มีส่วนช่วยพวกเราเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่ราคาแพงมากนี้ จะช่วยให้การเรียนการสอนของเรามีคุณภาพมากยิ่งขึ้นครับ”
เมื่อเห็นใบหน้าเด็กๆ เต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข หลังจากได้รับเครื่องเขียนชิ้นใหม่ คุณครูคานธีเองก็บอกเล่าความในใจด้วยความปีติเช่นกันว่า “วันนี้ฉันดีใจมากค่ะ เพราะว่าเราไม่สามารถทำการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ การที่ฉือจี้มามอบสิ่งเหล่านี้ให้เรา ถือว่าดีอย่างมากเลยค่ะ”
“พวกเขาต้องทำการเรียนการสอนกันกลางแจ้ง ด้วยห้องเรียนและโต๊ะเก้าอี้เท่าที่มีตามอัตภาพ เห็นความพยายามที่จะศึกษาหาความรู้ของพวกเขาแล้ว เราก็หวังว่าจะสามารถช่วยเหลือพวกเขาให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ค่ะ” จิตอาสาฉือจี้ คุณสุกัญญา ริมพนาเวศกล่าว
เหล่านักเรียนและคุณครู ต่างใช้สอยสิ่งที่ฉือจี้มอบให้ด้วยความทะนุถนอม หวังว่าการดูแลจากชาวฉือจี้ จะช่วยหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรักลงในจิตใจของพวกเขา เพื่อให้พวกเขาเผชิญวันข้างหน้าด้วยรอยยิ้มและความหวังอันสดใสต่อไป
▲จิตอาสาฉือจี้ให้การสนับสนุนการศึกษา ด้วยความรักอันยิ่งใหญ่ ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและเผ่าพันธุ์
เรื่อง คุณบุษรา สมบัติ ภาพ คุณรัตนโชติ ประมวลทรัพย์, คุณพิสิษฎิ์ หาญพงษ์เจริญ