ค้นหาข่าว

เอื้อเฟื้อสถานที่ ส่งเสริมชั้นเรียนกราฟฟิกดีไซน์

20170527-296-bylek resize

 

บ่มเพาะความรักอันยิ่งใหญ่ ในชั้นเรียนอบรมล่ามแปลภาษา

27 พฤษภาคม 2560 ก่อนกิจกรรมบริการชุมชน รักษาพยาบาลฟรี 1 วัน อาสาสมัครและล่ามแปลภาษามีนัดหมาย ในจัดชั้นเรียนอบรมล่ามแปลภาษา ซึ่งจะจัดขึ้นทุกๆ 3 เดือน ช่วงเช้าวันดังกล่าว ล่ามแปลภาษาทยอยเดินทางมาถึงสถานที่ ก่อนที่ชั้นเรียนจะเริ่มต้นขึ้น อาสาสมัครขอความร่วมมือให้ล่ามแปลภาษาช่วยจัดเตรียมสถานที่ เช่น จัดตั้งห้องตรวจ ปัดกวาเช็ดถูสถานที่ นำเก้าอี้ไปจัดวางในจุดบริการต่างๆ เมื่อแล้วเสร็จ ทุกคนก็ได้มารวมกันอีกครั้ง เพื่อเริ่มชั้นเรียนอบรมล่ามแปลภาษา

 

 

20170527-001-bydatchanee resize

▲ล่ามแปลภาษาช่วยจัดเตรียมสถานที่กิจกรรมรักษาพยาบาลฟรีก่อนชั้นเรียนอบรม

 

ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆครึ้มหนาตา ไม่นานฝนก็โปรยปรายลงมา เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนแห่งความชุ่มฉ่ำเช่นนี้แล้ว พืชพรรณธัญญาล้วนเขียวขจีไปทั่วทุกหนแห่ง อากาศก็เย็นสบายดี ภายในห้องประชุมที่กำลังจัดชั้นเรียนอบรมล่ามแปลภาษาอยู่นั้น อาสาสมัครฉือจี้ คุณกัวเหมยจวิน ผู้ทำหน้าที่ประสานงานล่ามแปลภาษา ได้ชี้แจงเนื้อหารายละเอียดกิจกรรมรักษาพยาบาล และกำชับด้วยรักให้ล่ามแปลภาษาทุกคนปฏิบัติตามข้อปฏิบัติต่างๆ

 

20170527-039-bydatchanee resize

▲ เปิดวีซีอาร์ธรรมาเทศนาของท่านธรรมจารย์ให้ล่ามแปลภาษารับชม เพื่อให้พวกเขาได้ซึมซับถึงวัฒนธรรมอันดีงามของชาวฉือจี้


นอกจากนี้ คุณกัวเหมยจวินยังได้เปิดวีซีอาร์ธรรมาเทศนาของท่านธรรมจารย์ และเรื่องราวการออมข้าวสารสร้างบุญของผู้คนในเมียนมาร์ให้ล่ามแปลภาษารับชม เพื่อให้พวกเขาได้ซึมซับถึงวัฒนธรรมอันดีงามของชาวฉือจี้ และส่งเสริมให้พวกเขาออมเงินน้อย ร่วมสร้างบุญมาก ซึ่งการจัดชั้นเรียนอบรมล่ามแปลภาษา ยังเป็นวันนัดหมายให้ทุกคนนำกระปุกออมบุญคืนสู่เหย้า โดยในครั้งนี้มีล่ามแปลภาษาจำนวน 13 คน นำกระปุกออมบุญมาบริจาคให้ทางมูลนิธิฯ ทุกคนล้วนปีติยินดีที่ได้นำ “ความรักอันเล็กน้อย” ของตน เปลี่ยนเป็น “ความรักอันยิ่งใหญ่”ที่สามารถนำไปช่วยเหลือผู้อื่นได้

 

20170527-040-bydatchanee resize 

▲เปิดวีซีอาร์เรื่องราวการออมข้าวสารสร้างบุญของผู้คนในเมียนมาร์ให้ล่ามแปลภาษารับชม เพื่อส่งเสริมให้พวกเขาออมเงินน้อย ร่วมสร้างบุญมาก


จากนั้นเป็นช่วงเวลาของการแบ่งปันสารทุกข์สุกดิบ ล่ามแปลภาษาแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม และนั่งล้อมเป็นวงกลม หัวข้อที่พวกเขานำมาพูดคุยในวันนี้นี้คือ “ชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองไทย” แม้ว่าพวกเขาจะมาจากหลายประเทศ ต่างเชื้อชาติ ศาสนากัน แต่ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ในต่างถิ่นฐานบ้านเกิดในปัจจุบัน พวกเขาเป็นเสมือน “ครอบครัวผู้ลี้ภัย” จากการแบ่งปันของพวกเขาทำให้ทราบว่า ถึงแม้ชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองไทยจะยากลำบาก ต้องพบเจอกับปัญหาต่างๆมากมาย ทว่า ภายใต้การดูแลของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(UNHCR) ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย มีอิสระในการนับถือศาสนา หญิงชายมีความเท่าเทียมกัน ไม่มีสงคราม ทุกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ล้วนสามารถอยู่ร่วมกันได้

 

20170527-143-bylek resize

▲ ชั้นเรียนอบรมล่ามแปลภาษา ยังเป็นวันนัดหมายให้ทุกคนนำกระปุกออมบุญคืนสู่เหย้า โดยในครั้งนี้มีล่ามแปลภาษาจำนวน 13 คน นำกระปุกออมบุญมาบริจาคให้ทางมูลนิธิฯ ทุกคนล้วนปีติยินดีที่ได้นำ “ความรักอันเล็กน้อย” ของตน เปลี่ยนเป็น “ความรักอันยิ่งใหญ่”ที่สามารถนำไปช่วยเหลือผู้อื่นได้


ในช่วงท้ายของชั้นเรียนอบรมล่ามแปลภาษา ตัวแทนล่ามแปลภาษาได้แบ่งปันความรู้สึกหน้าชั้นเรียน คนแรก คือ คุณราเมล เขาแบ่งปันถึงความประทับใจที่ได้มาร่วมกิจกรรมสรงน้ำพระเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา คนที่สอง คุณโกบีนาร์ท ได้แบ่งปันถึงเรื่องราวของครอบครัวศรีลังกาครอบครัวหนึ่ง เนื่องด้วยชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากของพวกเขา ทำให้คุณโกบีนาร์ทรู้สึกเห็นใจ จึงได้ขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิฯ ภายหลังทราบว่าทางมูลนิธิให้การช่วยเหลือรับดูแลเป็นครอบครัวผู้ยากไร้ ทำให้เขารู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้อื่น และคนสุดท้าย คือ คุณอาซีฟก็ได้ใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์ชั้นเรียนกราฟฟิกดีไซน์คอรส์ใหม่ที่จะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม และเชิญชวนผู้ที่สนใจมาเรียนร่วมกัน

 

20170527-032-bydatchanee resize

▲ ล่ามแปลภาษานั่งล้อมเป็นวงกลม พูดคุยแบ่งปัน “ชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองไทย”

 

ด้วยความเห็นใจ จึงจัดชั้นเรียนกราฟฟิกดีไซน์ ให้ความรู้ฟรี
คุณอาซีฟ บอกเล่าว่า เขามาจากครอบครัวใหญ่ มีสมาชิกในครอบครัว 11 คน เพื่อหลีกหนีอันตรายจากความขัดแย้งด้านศาสนา ทำให้เขาและครอบครัวต้องอพยพมาศัยที่เมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ความเป็นอยู่ในเมืองไทยช่วงแรกยากลำบากมาก การหางานก็ยากเช่นเดียวกัน แม้เขาจะหางานทำได้ในที่สุด แต่งานๆนั้นก็ไม่ได้คุ้มกับความเหน็ดเหนื่อยเขาเลย เขาต้องทำงานวันละ 14 ชั่วโมง จึงจะได้รับค่าแรงเดือนละ 5,000 บาท สิงหาคมในปีเดียวกัน พี่ชายของเขาได้แนะนำงานกราฟฟิกดีไซน์ ซึ่งทำให้เขาสนใจไม่น้อย เพราะลักษณะของงานกราฟฟิกดีไซน์ มิใช่เป็นงานที่ได้รับการยอมรับ แต่ยังเป็นงานที่สามารถทำได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องออกจากบ้าน กังวลกับการถูกตำรวจจับ คุณอาซีฟจึงตัดสินใจไปเรียนกราฟฟิกดีไซน์ เมื่อเรียนจบแล้วเขาจึงหางานทำทางอินเตอร์เน็ต ต่อมา พี่ชายของเขาจึงได้สร้างเว็บไซต์หนึ่งขึ้นมา เพื่อรับงานทางอินเตอร์เน็ต

 

20170527-047-bydatchanee resize

▲ คุณราเมล เขาแบ่งปันถึงความประทับใจที่ได้มาร่วมกิจกรรมสรงน้ำพระเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา


ด้วยความเห็นอกเห็นใจผู้ลี้ภัยด้วยกัน คุณอาซีฟ พี่ชายของเขา และครูสอนกราฟฟิกดีไซน์อีกท่านหนึ่ง จึงได้จัด “ชั้นเรียนกราฟฟิกดีไซน์ฟรี” ตั้งแต่มกราคม 2560 เป็นต้นมา หวังให้ผู้ลี้ภัยได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะความสามารถของตนเพิ่มเติม มีโอกาสได้ทำงานที่ดีขึ้น เมื่อเรียนจบก็สามารถหางานได้ทางอินเตอร์เน็ตได้อย่างสะดวก ทำงานที่บ้านได้อย่างไร้กังวล คุณอาซีฟ แบ่งปันความรู้สึกว่า “เพราะผู้ลี้ภัยต้องประสบกับปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการเงิน พวกเราจึงจัดชั้นเรียนกราฟฟิกดีไซน์ให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาเรียนฟรี เพื่อให้พวกเขามีความรู้ ความสามารถเพิ่มขึ้น และหวังให้สามารถใช้ความรู้ความสามารถที่ได้เรียนมา หางานทำที่ดีเมื่อยามที่เขาได้ไปอาศัยในประเทศที่สาม”

 

20170527-043-bydatchanee resize

▲คุณโกบีนาร์ท แบ่งปันถึงเรื่องราวของครอบครัวศรีลังกาครอบครัวหนึ่ง เมื่อทราบว่าทางมูลนิธิให้การช่วยเหลือรับดูแลเป็นครอบครัวผู้ยากไร้ ทำให้เขารู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้อื่น


เอื้อเฟื้อสถานที่ ส่งเสริมชั้นเรียนกราฟฟิกดีไซน์
คอร์สชั้นเรียนกราฟฟิกดีไซน์มีทั้งหมด 8 ครั้ง เรียนทุกบ่ายวันเสาร์ ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจึงจะเรียนจบหลักสูตรพร้อมกับใบประกาศนียบัตรรับรองความสามารถ ชั้นเรียนนี้จัดมาแล้ว 2 คอร์ส ในตอนแรก มีครูสอนเพียง 2 คน และผู้เรียนไม่กี่คน ผ่านมา 2 คอร์สแล้ว จำนวนของครูผู้สอนและผู้เรียนก็เพิ่มขึ้นปัจจุบันซึ่งอยู่ในระหว่างจัดชั้นเรียนคอร์สที่ 3 มีครูผู้สอน 16 คน มีนักเรียน 60 กว่าคน ทำให้สถานที่ที่เช่าไว้สำหรับจัดชั้นเรียนไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้เรียน คุณอาซีฟและคณะจึงได้ขอความอนุเคราะห์มายังทางมูลนิธิ และทางมูลนิธิก็ยินดีให้ความร่วมมือและช่วยเหลือ

 

20170527-050-bydatchanee resize

▲ คุณอาซีฟประชาสัมพันธ์ชั้นเรียนกราฟฟิกดีไซน์คอรส์ใหม่ที่จัดจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม และเชิญชวนผู้ที่สนใจมาเรียนร่วมกัน


20 พฤษภาคม คุณอาซีฟและคณะจัดชั้นเรียนกราฟฟิกดีไซน์ที่สถานธรรมจิ้งซือเป็นครั้งแรก อาสาสมัครได้เอื้อเฟื้อสถานที่ อินเตอร์เน็ตและขนมให้พวกเขาได้เรียนอย่างอุ่นใจ คุณมีนาฮิล หนึ่งในครูผู้สอนของชั้นเรียนกราฟฟิกดีไซน์ แบ่งปันว่า “เรามาขอความช่วยเหลือจากฉือจี้ ฉือจี้ก็เอื้อเฟื้อสถานที่ให้พวกเรา ทำให้พวกเราเรียนได้อย่างมีความสุข เพราะว่าที่นี่มีทุกอย่างที่พวกเราต้องการ” ทีมครูผู้สอนกราฟฟิกดีไซน์ ล้วนเป็นจิตอาสามาช่วยสอนด้วยความสมัครใจ อย่างเช่น คุณมีนาฮิล วัย 19 ปี เธอก็มีความรู้ด้านกราฟฟิกดีไซน์จากชั้นเรียนนี้ เมื่อเรียนจบแล้ว ไม่เพียงหางานทำจากอินเตอร์เน็ต มีรายได้จุนเจือครอบครัว ในขณะเดียวกัน เธอยังมาร่วมเป็นหนึ่งในทีมครูผู้สอน ถ่ายทอดความรู้ด้านกราฟฟิกดีไซน์ให้ผู้ลี้ภัย

 

S  10199117 resize

▲คุณอาซีฟและคณะเดินทางมาพบอาสาสมัครฉือจี้ แสดงความประสงค์ขอความอนุเคราะห์ขอใช้สถานที่จัดชั้นเรียนกราฟฟิกดีไซน์ให้ผู้ลี้ภัย

 

20170520-037-bylek resize 

▲ 20 พฤษภาคม เริ่มจัดชั้นเรียนกราฟฟิกดีไซน์ที่สถานธรรมจิ้งซือเป็นครั้งแรก

  

ไม่เพียงเพิ่มความรู้ความสามารถให้ตนเอง ชั้นเรียนนี้ยังสามารถทำให้ผู้เรียนมีงานทำที่ดีขึ้น เมื่อเห็นผู้เรียนจากคอร์สก่อนๆสามารถนำความรู้ความสามารถหางานที่ดีกว่าเดิมได้จริง ก็ดึงดูดใจให้คนอื่นๆสนใจมาเรียนชั้นเรียนกราฟฟิกดีไซน์เพิ่มมากขึ้น อมาทาล สาวน้อยวัย 16 ปี จากปากีสถาน แบ่งปันว่า “หนูดีใจมากที่ได้มาเรียนกราฟฟิกดีไซน์ เพราะว่าชั้นเรียนนี้มีประโยชน์ต่ออนาคตของหนู ครอบครัวของหนู และหนูก็คิดว่าผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ควรได้มาเรียนด้วยเช่นกันค่ะ”

 

20170520-082-bylek resize

▲ คุณอาซีฟ (คนสวมหมวก) พี่ชายและครูสอนกราฟฟิกดีไซน์อีกท่าน ร่วมกันจัด “ชั้นเรียนกราฟฟิกดีไซน์ฟรี” หวังให้ผู้ลี้ภัยมีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแขนง และสามารถใช้ความรู้ความสามารถที่ได้เรียนมา หางานที่ดีทำได้เมื่อยามที่เขาได้ไปอาศัยในประเทศที่สาม”

 

20170527-302-bylek resize 

▲ ตั้งใจฟัง มุ่งมั่นเรียนรู้ จดบันทึกความรู้จากครูผู้สอน

 

20170520-097-bylek resize

▲ ผู้ลี้ภัยเรียนกราฟิกดีไซน์ในสถานธรรมจิ้งซืออย่างมีความสุข

 

 


เรื่อง กัวเหมยจวิน , หวังจงเสียน , ดรรชนี สุระเทพ     ภาพ พิณญ์ธิชา จันทร์สุขศรี , ดรรชนี สุระเทพ