ค้นหาข่าว

โรคภัยแพร่ระบาดเดือดร้อนถ้วนหน้า ฉือจี้เตรียมถุงยังชีพคลายทุกข์เติมสุข

20200419preparereliefcovid

 

เพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) รัฐบาลจึงประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 ทำให้ทั้งห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง โรงเรียน มหาวิทยาลัย สนามกีฬา และสวนสาธารณะต่างปิดให้บริการ ทว่า ยังมีผู้ติดเชื้อรายวันทะลุหลักร้อย ยอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็นหลักพัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เพื่อควบคุมสถานการณ์โรคระบาดไม่ให้เลวร้ายไปกว่านี้ 3 เมษายน ที่ผ่านมา รัฐบาลจึงยกระดับมาตรการในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม โดยประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานช่วงเวลา 22.00-04.00 น.


โรคภัยแพร่ระบาด ประชาชนเดือดร้อนถ้วนหน้า

ภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและเคอร์ฟิว ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบ บางคนถูกเลิกจ้าง บางคนถูกลดเงินเดือน บางคนตกงาน หรือทำมาหากินลำบากขึ้น “เดี๋ยวนี้ไม่มีรายได้อะไรเลย หมดเลย แย่มากเลย โอ้โห...เหนื่อย บางทีเครียด เครียดมาก ” คุณเพียง เจ้าของร้านเสริมสวยแห่งหนึ่ง ซึ่งใบหน้าเต็มไปด้วยความทุกข์กังวล ระบายความอัดอั้นภายในจิตใจ

คุณวิภาส ประกอบอาชีพขับจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งปกติมีรายได้ประมาณ 500-700 บาทต่อวัน แต่เมื่อโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ประชาชนไม่ค่อยออกนอกบ้าน รายได้ต่อวันลดลงเหลือเพียง 100-200 บาทเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครอบครัว คุณวิภาสจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการช่วยเหลือ “มันวิกฤตก็ต้องทนกันไปก่อน แต่ถ้ามีการช่วยเหลือได้ มันก็จะพอได้กินได้อยู่ได้ใช้ไปได้พอวันๆนึง ”

 

20200417-009-bylek
จิตอาสาฉือจี้เดินทางสู่ลงชุมชน เพื่อสำรวจสถานที่จัดกิจกรรมมอบถุงยังชีพ

 

คุณศิริวัฒน์ ประธานชุมชนโมราวรรณ เขตสวนหลวง กทม. ในฐานะผู้นำชุมชน เมื่อได้เห็นประชาชนได้รับความเดือดร้อนในทุกๆวันเช่นนี้ ก็รู้สึกทุกข์ใจเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงคิดว่าการได้รับความช่วยเหลือ เป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวังและรอคอยมากที่สุด คุณศิริวัฒน์ แบ่งปันว่า “อยากให้หน่วยงานต่างๆเข้ามาช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องในชุมชนนะครับ ที่เน้นๆก็จะเป็นถุงยังชีพนี่ละครับ ต้องการมากๆเลยครับ ”

เสียงความทุกข์ร้อนของประชาชน มิอาจทำให้ชาวฉือจี้นิ่งเฉยได้ ดังนั้น มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย จึงจัดตั้งโครงการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ยากไร้ซึ่งเดิมทีฉือจี้ให้การดูแลระยะยาวที่ได้รับผลกระทบ และคนยากจนที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ผ่านการมอบถุงยังชีพบรรเทาความเดือดร้อนต่อเนื่อง 3 เดือน

 

20200417-224-bylek
จิตอาสาฉือจี้ร่วมหารือถึงผังกิจกรรมและรูปแบบการมอบถุงยังชีพกับผู้นำชุมชน


20200417-062-bylek
จิตอาสาฉือจี้เดินทางสู่ลงชุมชน เพื่อสำรวจสถานที่จัดกิจกรรมมอบถุงยังชีพ ทั้งยังสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ให้กำลังใจพวกเขาสู้ชีวิตต่อไป

 

หลังจากประชุมพูดคุยกันหลายครั้ง หารือกับผู้เกี่ยวข้องกันหลายรอบแล้ว การดำเนินงานเริ่มมีความคืบหน้าบ้างแล้ว โดย 17 เมษายน 2563 จิตอาสาฉือจี้ลงพื้นที่สำรวจสถานที่ ร่วมหารือถึงผังกิจกรรมและรูปแบบการมอบถุงยังชีพกับผู้นำชุมชน ทั้งยังสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ให้กำลังใจพวกเขาสู้ชีวิตต่อไป และ 19 เมษายน ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการบรรจุสิ่งของลงในถุงยังชีพ


ร่วมแรงร่วมใจแพ็คสิ่งของ บรรจุความรักลงในถุงยังชีพ
ผู้คนจากชุมชนต่างๆ โดยมิแบ่งกั้นเชื้อชาติ ศาสนา เกือบ 200 คน มาร่วมเป็นจิตอาสาบรรจุสิ่งของที่มูลนิธิฯ ก่อนการบรรจุสิ่งของจะเริ่มต้นขึ้น คุณแซม ลู จิตอาสาฉือจี้ นำทุกคนยืดเส้นสาย กายบริหารอบอุ่นร่างกาย เพื่อลดการบาดเจ็บและความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ เมื่อการบรรจุสิ่งของเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ ก็เห็นได้ถึงภาพบรรยากาศ “ทุกคนมีงานทำ ทุกงานมีคนทำ” จิตอาสาทุกคนต่างตั้งใจทำหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมาย ร่วมมือร่วมใจและทุ่มเทอย่างสุดกำลังแรงกายแรงใจทำงานภายใต้ห้องบรรยายธรรมที่เปิดโล่งไม่ได้เปิดเครื่องปรับอากาศ เพื่อนำข้าวสาร น้ำมัน น้ำตาล เกลือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำผลไม้ ขนมอบกรอบ บรรจุลงในถุงยังชีพ

 

20200419-002-bydatchanee
ผู้คนจากชุมชนต่างๆ โดยมิแบ่งกั้นเชื้อชาติ ศาสนา เกือบ 200 คน มาร่วมเป็นจิตอาสาบรรจุสิ่งของที่มูลนิธิฯ ทุกคนต่างรักษาระยะห่างทางสังคม เว้นระยะ 1-2 เมตร ลดความเสี่ยงติดในการติดเชื้อ

 

คุณสุนทร  อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(อพม.)ของชุมชนหัวหมากเกาะกลาง เขตสวนหลวง กทม. เล่าว่า เพราะความซาบซึ้งใจที่ฉือจี้ยื่นมือมอบความช่วยเหลือ ดังนั้น เมื่อทราบว่าฉือจี้ต้องการกำลังคนมาช่วยบรรจุสิ่งของ คนในชุมชนรวม 39 คน ต่างยินดีมาร่วมเป็นจิตอาสา คว่ำมือลงเป็นผู้ให้โดยไม่ลังเลใจ คุณสุนทร แบ่งปันว่า “ทุกคนมีความสุขมาก เขาดีใจที่ทางมูลนิธิฉือจี้ว่าจะไปช่วยเหลือ แล้ววันนี้คนยากจนเหล่านั้นก็ขอร่วมเป็นหนึ่งพลัง มาช่วยแพ็คของในวันนี้ครับ ”

การเป็นผู้ให้ไม่เพียงทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจ หากยังเห็นถึงแสงสว่างแห่งความหวัง คุณสารภี ประธานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เขตหนองจอก กทม. แบ่งปันความรู้สึกว่า “วันนี้พอมาเห็นของที่ทางมูลนิธิฯจะเอาไปแจกจ่ายให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ก็คิดในใจว่า โอ้โห... สิ่งของเหล่านี้นี้ช่วยพี่น้องประชาชนได้จริงๆ ส่วนตัวคิดว่าน่าจะพอบรรเทาความเดือดร้อนได้ถึงสองอาทิตย์ ”

 

20200419-072-bydatchanee
จิตอาสาใส่เฟซชิลด์เพื่อรักษาสุขอนามัยส่วนตัวและป้องกันเชื้อโรคในระหว่างบรรจุสิ่งของลงในถุงยังชีพ

 

ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ใจเปี่ยมด้วยปีติสุข
ภัยจากโรคระบาดครั้งนี้ ทำให้ชีวิตของประชาชนจำนวนมากดำดิ่งสู่ความมืดมน แม้ว่าหลายคนที่มาร่วมเป็นจิตอาสาในครั้งนี้ มีชีวิตความเป็นอยู่ยากลำบาก แต่พวกเขาก็ยังยินดีทำเพื่อผู้อื่น คุณอัญชนีย์ จากชุมชนพัฒนาริมคลองบ้านป่า เขตสวนหลวง กทม. แบ่งปันความรู้สึกว่า “ยิ่งเราลำบาก เรายิ่งต้องช่วยเหลือกันนะคะ เพราะว่าถ้าต่างคนต่างเห็นแก่ตัว มันก็ไม่มีความอยู่รอด”

เดือนเมษายน คือช่วงเวลาที่อากาศร้อนที่สุดของเมืองไทย ด้วยเหตุนี้ จิตอาสาทุกท่านจึงต่างบรรจุสิ่งของด้วยเหงื่อโชกท่วมตัว ทว่า จิตใจกลับเปี่ยมไปด้วยความปีติ คุณจางฮุ่ยเจิน แบ่งปันว่า “แม้ว่าสิ่งของจะหนัก มือจะล้าจนไร้เรี่ยวแรง รอบตาจะเต็มไปด้วยเหงื่อ แต่ฉันก็มีความสุข อิ่มเอมใจ เพราะว่าประชาชนจำนวนมากล้วนต้องการสิ่งของเหล่านั้น ดังนั้นเวลาที่แพ็คสิ่งของ ฉันก็คิดอย่างนี้ตลอด ก็เหมือนกับที่ท่านธรรมาจารย์คอยเน้นย้ำกับเราชาวจิตอาสาฉือจี้ถึงการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เพราะว่าสิ่งของเหล่านี้สามารถช่วยชีวิตพวกเขาได้ ดังนั้น การมอบสิ่งของช่วยเหลือฉุกเฉิน จึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขามากค่ะ”


20200419-052-bydatchanee
จิตอาสาร่วมแรงร่วมใจกันนำข้าวสาร น้ำมัน น้ำตาล เกลือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำผลไม้ ขนมอบกรอบ บรรจุลงในถุงยังชีพ

 

20200419-057-bydatchanee
ฉือจี้จะเร่งดำเนินการมอบถุงยังชีพเหล่านี้ในเร็ววัน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย บรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน ให้พวกเขาอิ่มท้อง อุ่นใจ ผ่านวิกฤติครั้งนี้อย่างไร้กังวล

 

โดยฉือจี้จะเร่งดำเนินการนำถุงยังชีพเหล่านี้ไปมอบให้ครอบครัวผู้ยากไร้ซึ่งเดิมทีฉือจี้ให้การดูแลระยะยาวที่ได้รับผลกระทบ และคนยากจนที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐในกทม.และจังหวัดราชบุรีในเร็ววัน เดือนละประมาณ 10,000 ครอบครัว ต่อเนื่องสามเดือนรวมประมาณ 30,000 ครอบครัว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย บรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน ให้พวกเขาอิ่มท้อง อุ่นใจ ผ่านวิกฤตครั้งนี้อย่างไร้กังวล

 

 


   เรื่อง ดรรชนี สุระเทพ       ภาพ พิณญ์ธิชา จันทร์สุขศรี ,จรรยพร เข้มแข็ง ,ดรรชนี  สุระเทพ