เรียนรู้ขอบพระคุณ เปลี่ยนแปลงความคิด บนเส้นทางฉือจี้ คุณชนิตา สุริยมานพ

0307I2-23 resize 

 

“คุณชนิตา สุริยมานพ” เป็นหนึ่งในชาวไต้หวันที่แต่งงานและย้ายมาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 เป็นต้นมา การออกจาก “ไต้หวัน” ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอน มาตั้งแต่อายุยัง น้อย ทำให้คุณชนิตาไม่เคยรู้จัก “ฉือจี้” เลย แต่เมื่อต้องเดินทางกลับไปเยี่ยมคุณอาซึ่งเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งหลอดอาหาร ที่โรงพยาบาลฉือจี้ จึงทำให้คุณชนิตามีโอกาสได้สัมผัสกับฉือจี้ และทำให้ชีวิตหลังจากนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง แสดงให้เห็นว่า “เมื่อมีวาสนาต่อกัน แม้จะช้าแต่ย่อมได้พบพาน เมื่อพบเส้นทางที่ถูกต้อง แม้จะไกลแต่ก็ไม่หวาดหวั่น”

 

ขอบคุณวาสนา นำพาให้รู้จัก “ฉือจี้”

คุณชนิตาเล่าว่า “หลังจากไปเยี่ยมคุณอาที่โรงพยาบาลฉือจี้แล้ว จึงได้เข้าไปที่สมณารามจิ้งซือ โดยท่านภิกษุณีเต๋อหรานได้นำไปพบท่านภิกษุณีเต๋อฉือ ซึ่งท่านก็ทราบดีถึงอาการป่วยของคุณอา ท่านจึงได้ปลอบโยนว่า ชีวิตคนเราก็เป็นเช่นนี้เอง มีเกิดแก่เจ็บตาย เหมือนๆ กัน จึงขอให้เรารู้จักปล่อยวาง” ก่อนกลับ ท่านภิกษุณีเต๋อหรานยังได้บอกว่า ตอนนี้ที่สมณาราม มีจิตอาสาฉือจี้ซึ่งมาจากเมืองไทยอยู่ 3 ท่าน คือ คุณเฉินลี่หน่วน, คุณมณี หัสดินไพศาลและคุณลัดดา เจริญสวัสดิชัย จึงชวนให้คุณชนิตาไปทำความรู้จัก

เมื่อคุณเฉินลี่หน่วนทราบว่าคุณชนิตาอาศัยอยู่เมืองไทยมาเป็นระยะเวลานาน สามารถพูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว ก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ขอที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ไว้ติดต่อ พร้อมทั้งบอกว่า เมื่อกลับไปเมืองไทยแล้ว จะหมั่นโทรศัพท์หา เนื่องจากตอนนั้น คุณชนิตาไม่รู้ว่าชาวฉือจี้ทำอะไรบ้าง จึงไม่ได้ใส่ใจมากนัก ก่อนกลับท่านภิกษุณีเต๋อหรานจึงได้มอบจุลสารเกี่ยวกับฉือจี้ให้คุณชนิตากลับมาอ่านและศึกษาต่อที่เมืองไทย

หลังจากกลับมาเมืองไทยได้ประมาณ 1-2 เดือน ด้วยปัญหาสุขภาพ คุณชนิตาจึงต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษา ในขณะที่พักรักษาตัวอยู่นั้น ก็มักจะได้รับโทรศัพท์เชิญชวนให้มาร่วมกิจกรรมจิตอาสา ทำความดีเพื่อสังคมอยู่บ่อยครั้ง ความกระตือรือร้นของคุณเฉินลี่หน่วน ทำให้คุณชนิตารู้สึกชื่นชมเป็นอย่างมาก มีครั้งหนึ่งคุณเฉินลี่หน่วนโทรศัพท์มาแจ้งว่า “จิตอาสาฉือจี้จากไต้หวันจะเดินทางมาเมืองไทย ไม่ทราบว่าพอจะมีเวลามารับประทานอาหารร่วมกันไหมคะ” เมื่อทราบว่าช่วงนั้นคุณชนิตายังอยู่ในระหว่างพักรักษาตัว และไม่สะดวกออกข้างนอก คุณเฉินลี่หน่วนจึงบอกว่า “ไม่เป็นไรค่ะ ช่วงนี้ขอให้พักรักษาตัวให้หายก่อน เมื่อใกล้วันที่จิตอาสาฉือจี้ไต้หวันจะมาแล้ว จะโทรศัพท์กลับมาแจ้งให้ทราบอีกครั้ง อยากให้คุณได้รู้จักพวกเขาจริงๆ ค่ะ”

แม้ตอนนั้นสุขภาพร่างกายของคุณชนิตายังไม่แข็งแรงเต็มที่ แต่ความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของคุณเฉินลี่หน่วน ทำให้คุณชนิตาตัดสินใจใช้โอกาสนี้ มาทำความรู้จักฉือจี้ให้มากยิ่งขึ้น จนเมื่อไปถึงสถานที่จัดงาน คุณชนิตากลับรู้สึกประหม่าเล็กน้อย เพราะภาพที่เห็นคือ ชาวฉือจี้ที่สวมเครื่องแบบเสื้อน้ำเงินกางเกงขาวทั้งสิ้น มีเพียงคุณชนิตาเท่านั้นที่แต่งชุดไปรเวท ด้วยความไม่คุ้นเคย การรับประทานอาหารร่วมกันในวันนั้น คุณชนิตาจึงนั่งฟังจิตอาสาท่านอื่น แบ่งปันอยู่เงียบๆ ก่อนกลับ ท่านภิกษุณีเต๋อเซวียน จึงได้มอบสร้อยประคำมือเพื่อเป็นของที่ระลึก พร้อมทั้งอวยพรว่า “เจอกันครั้งหน้า หวังว่าจะได้เห็นคุณใส่เครื่องแบบฉือจี้นะ” ตอนนั้นในใจของคุณชนิตาเอง ก็ได้อธิษฐานขอให้คำอวยพรนี้สัมฤทธิ์ผลเช่นกัน

 

อาศัย “งาน” ขัดเกลา “ใจ”

ในช่วงแรกเริ่ม “ฉือจี้” ในเมืองไทย ไม่มีสำนักงานที่เป็นหลักแหล่ง ดังนั้นเมื่อจิตอาสาจะนัดปะเพื่อประชุมปรึกษาหารือในการจัดกิจกรรม จึงต้องสลับหมุนเวียนไปจัดที่บ้านของจิตอาสาแต่ละท่าน คุณชนิตาเล่าว่า “ฉันเข้าร่วมการประชุมของฉือจี้ครั้งแรก เพราะตอนนั้นจัดขึ้นที่บ้านจิตอาสาท่านหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของฉัน โดยครั้งนั้นทุกคนต่างก็เสนอแนะความคิดเห็น เพื่อเตรียมงานที่จะไปเยี่ยมเยียนดูแลสถานสงเคราะห์เด็กด้อยโอกาสวัดโบสถ์วรดิตถ์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมอุปกรณ์ สิ่งของหรือแม้กระทั่งยานพาหนะที่จะเดินทางไป เป็นต้น ซึ่งต่อมาฉันก็ได้ชวนลูกชายไปดูแลเด็กๆ เหล่านั้นด้วย”

ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน เคยปรารภไว้ว่า ต้องรู้จักอาศัยเรื่องราว มาขัดเกลาจิตใจตนเอง เพราะเมื่อได้ก้าวเข้าไปอยู่ ณ ที่แห่งนั้นด้วยตัวเอง จึงจะทำให้คุณได้เข้าใจถึงความหมายของคำว่า “ชีวิต คือ ทุกข์” เมื่อได้สัมผัสกับความน่ารัก และความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเด็กๆ วัดโบสถ์ สิ่งที่ได้พบและได้เห็น ทำให้คุณชนิตารู้สึกรักและเอ็นดูเด็กๆ ตัวน้อย ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร พวกเขาจำต้องห่างไกลอ้อมกอดของพ่อแม่ตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อมาสานฝันด้านการศึกษา เวลาหนึ่งวันที่ทำงานเสียสละเพื่อผู้อื่น ทำให้คุณชนิตาอิ่มเอมใจเป็นอย่างยิ่ง

 

รู้จักเปลี่ยนมุมคิด ชีวิตก็เปลี่ยน

คุณชนิตา เป็นคุณแม่ที่มีบุตรชาย 2 คน แต่คาดไม่ถึงว่า วันหนึ่งด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้ท่านต้องเผชิญกับความเจ็บปวดเพราะต้องสูญเสียบุตรชายผู้เป็นที่รักไปหนึ่งคน ในขณะที่เขามีอายุเพียง 15 ปี แม้เหตุการณ์จะล่วงเลยไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง แต่คุณชนิตายังคงรู้สึกเสียใจและโทษตนเองอยู่เสมอ ด้วยคิดว่า เป็นเพราะตนเองทำหน้าที่ของแม่ได้ไม่ดีพอ ทำให้ลูกชายต้องจากโลกนี้ไป ทั้งที่อายุยังน้อย

จนกระทั่งครั้งหนึ่ง จิตอาสาฉือจี้จากสหรัฐอเมริกา คุณสตีเฟ่น หวง ได้เดินทางมาบรรยายธรรมที่เมืองไทย โดยในครั้งนั้นเขาบอกว่า หลังเสร็จการบรรยาย เขาจะต้องรีบกลับไปร่วมพิธีไว้อาลัยบุตรชายของชาวฉือจี้ท่านหนึ่งที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งจิตอาสาท่านนั้น ยังคงตกอยู่ในความโศกเศร้า และไม่สามารถก้าวออกมาจากความเสียใจนั้นได้ โดยคุณสตีเฟ่น หวง แบ่งปันว่า “เราทุกคนเกิดมา พร้อมกรรมจากชาติที่แล้วทั้งสิ้น เราเกิดมาชาตินี้เพื่อชดใช้กรรมของชาติก่อน ไม่มีใครหลีกหนีกรรมของตนเองพ้น หรือเปลี่ยนวิบากกรรมที่ตนเองเคยทำไว้ได้ เขาจึงจำเป็นต้องรับกรรมที่เขาเคยทำไว้ แต่ขอให้เรายินดีแทนเขา เพราะอะไรหรือ คุณลองคิดดูสิ เขายังเด็ก อายุ 10 กว่าปีเท่านั้น ยังไม่มีโอกาสได้สร้างวิบากกรรมใหม่ก็จากไปเสียก่อนแล้ว ชาติหน้าเชื่อมั่นว่า เขาจะได้เกิดมาเป็นเด็กที่ร่างกายแข็งแรง มีครอบครัวที่ดีก็เป็นได้ ดังนั้นเราจึงต้องอวยพรให้กับเขา ต้องยินดีแทนเขาถึงจะถูก” เมื่อได้ยินการแบ่งปันนี้ของคุณสตีเฟ่น คุณชนิตาจึงสามารถปลดปมที่ค้างคาอยู่ในส่วนลึกของจิตใจได้ในที่สุด

 

ละเลิกการบ่นว่า หันมา “ขอบพระคุณ”

คุณชนิตาเล่าว่า ตอนที่มาอยู่เมืองไทยใหม่ๆ เนื่องจากความแตกต่างทางด้านภาษาและวัฒนธรรม จึงมักจะมีความคิดเห็นที่ไม่ค่อยลงรอยกับแม่สามี รวมถึงตัวสามีเอง นานวันเข้าก็สั่งสมจนกลายเป็นความไม่พอใจขึ้นในจิตใจ ด้วยนิสัยที่ไม่ยอมใคร และไม่ชอบขอร้องผู้อื่น ดังนั้น หลายครั้งที่ต้องทำงานใดๆ ก็ตาม ในใจจึงมัก “บ่นว่า” ไปด้วย แต่เมื่อเข้ามาในฉือจี้ ได้ฟังธรรมะของท่านธรรมาจารย์ จึงได้ตระหนักว่า “มีเพียงการใช้ใจที่เปิดกว้าง และความคิดอันบริสุทธิ์เท่านั้น จึงจะทำให้เกิดความปีติ อย่าไปคิดเปลี่ยนแปลงผู้อื่น ขอให้เปลี่ยนแปลงตนเองก่อน” ดังนั้น คุณชนิตา จึงค่อยๆ เรียนรู้ ละเลิก “การบ่นว่า” หันมา “ขอบพระคุณ” แทน

สามีของคุณชนิตา เคยถามว่า “ทำไมทุกครั้ง ที่ผมให้ค่าใช้จ่ายประจำเดือนกับคุณ คุณไม่เคยเอ่ยคำว่าขอบคุณเลย” ในตอนแรกนั้น คุณชนิตาคิดว่า นี่เป็นหน้าที่ของหัวหน้าครอบครัวอยู่แล้ว ทำไมจะต้องเอ่ยขอบคุณด้วย แต่ “ฉือจี้” ทำให้ท่านคิดได้ว่า อย่างไรเสียก็ควรขอบคุณ คุณชนิตาเล่าว่า “เดือนแล้วเดือนเล่าที่สามีนำค่าใช้จ่ายมามอบให้ ใจฉันอยากจะพูดมาก แต่คำว่าขอบคุณ กลับไม่ยอมหลุดออกจากปาก และฉันต้องพยายามอยู่กว่าครึ่งปี สามีจึงจะได้ยินคำว่าขอบคุณของฉัน”

หลังจากได้ยินคำนี้ สามีที่กำลังจะเดินออกจากประตูบ้าน ต้องหันกลับมามองด้วยสายตาประหลาดใจ เพราะคิดว่าตนเองหูแว่ว ทั้งสองจึงได้แต่หัวเราะกันอย่างมีความสุข ต่อมาเมื่อคุณชนิตาลองมองย้อนกลับไป จึงได้แต่แปลกใจที่ไม่สามารถเอ่ยคำว่า “ขอบคุณ” ออกมาได้ ทั้งๆ ที่ ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย ตอนนี้เองที่ได้เข้าใจถึงคำสอนของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน ที่ว่า “ศัตรูร้ายกาจที่สุดของเราไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นตัวของเรานี่เอง”

 

น้อมตนเรียนรู้ ดูแลผู้อื่นด้วยความรัก

คุณชนิตา ผ่านการรับรองวุฒิเป็นกรรมการฉือจี้ เมื่อปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา โดยมีมูลเหตุตั้งแต่สมัย “โครงการสงเคราะห์ภาคเหนือของไทยต่อเนื่องสามปี” (พ.ศ.2538-2541) ในขณะที่กำลังคนไม่เพียงพอ จิตอาสาท่านอื่นจึงชักชวนให้คุณชนิตามาช่วยงานทางภาคเหนือ โดยบอกว่า “หากคุณมาช่วยงานที่ภาคเหนือ คุณจะได้เรียนรู้อะไรอีกเยอะเลย” คุณชนิตาจึงตอบไปว่า “ที่นั่น จะมีอะไรให้ฉันเรียนรู้ได้เล่า มองไปทางไหนก็มีแต่ภูเขาสูง” เพราะตอนนั้นคุณชนิตา รับอาสาอยู่เวรประจำที่สำนักงาน ใจจึงเป็นห่วงงานที่กรุงเทพฯ ขณะเดียวกันก็ไม่กล้าปฏิเสธการขอร้องของพี่น้องจิตอาสาฉือจี้ จึงต้องเดินทางมายังภาคเหนือด้วยความจำยอม

คุณชนิตานึกย้อนไปยังเหตุการณ์ในช่วงนั้น พร้อมทั้งเล่าว่า “ตอนนั้นฉันติดตามจิตอาสาฉือจี้จากไต้หวัน ไปดูแลหมู่บ้านต่างๆ ที่อดีตทหารพลัดถิ่นอาศัยอยู่ เมื่อเห็นอะไรที่ขัดใจ ก็จะพูดออกมาตรงๆ โดยไม่ฟังเหตุผลของคนอื่น นอกจากนี้ยังสอนอีกฝ่ายเสียยกใหญ่ โชคดีที่มีจิตอาสาท่านอื่นคอยสะกิดเตือนให้พูดน้อยๆ ลงหน่อย ตอนนี้พอลองมองย้อนกลับไป ก็รู้สึกว่าน่าอายมาก เพราะตอนนั้นจิตอาสาฉือจี้ที่มาจากไต้หวัน ไม่มีใครพูดอะไรเลย มีแต่ฉันพูดอยู่คนเดียว พวกท่านเป็นแบบอย่างที่ดีของการใจกว้างต่อผู้อื่น และความระมัดระวังในการพูด”

ตอนนั้นฉือจี้ได้จัดชั้นเรียนพัฒนาเกษตรกรรมให้กับชาวบ้าน จิตอาสาฉือจี้จากไต้หวันท่านหนึ่ง ได้เข้ามาสังเกตุการณ์และจับมือทักทายกับชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง ขณะเดินทางกลับ เขาก็ได้แบ่งปันขึ้นมาว่า ผู้ร่วมชั้นเรียนครั้งนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำอาชีพเกษตรกรรม คุณชนิตาจึงสอบถามว่า เขารู้ได้อย่างไร คุณชนิตาเล่าว่า “จิตอาสาจากไต้หวันท่านนั้น อธิบายว่า ปกติแล้วมือของชาวสวนชาวไร่จะมีลักษณะเฉพาะ แต่ตอนที่เขาจับมือกับชาวบ้าน กลับพบว่ามือของพวกเขาเนียนนุ่มแบบคนทั่วไป” ในตอนนั้นเองทำให้คุณชนิตาได้เปิดโลกทัศน์ และชื่นชมเหล่าจิตอาสาฉือจี้ ที่เป็นคนช่างสังเกตุด้วยสติปัญญาตลอดเวลา “นี่เป็นสิ่งที่ฉันต้องเรียนรู้ ดังนั้นการแบ่งปันในเย็นวันนั้น ฉันจึงบอกกับตัวเองว่า ต้องตั้งใจฟังทุกคนแบ่งปัน ต้องเอาชนะใจตัวเองให้ได้ อย่ามัวเอาแต่อยากเสนอแนะความคิดเห็นอันตื้นเขินของตนเอง เพื่อที่จะได้พัฒนาสติปัญญาและบำเพ็ญบุญกุศลไปพร้อมกัน”

 

ดูแลผู้สูงอายุ ดุจดังญาติผู้ใหญ่ตน

คุณชนิตา มักจะเดินทางไปร่วมดูแลอดีตทหารสูงอายุ ณ บ้านพักคนชราบ้านใหม่หนองบัวบ่อยครั้ง คุณชนิตาเล่าว่า “จำได้ว่าครั้งแรกที่ฉันเข้าไปยังบ้านพักคนชราแห่งนั้น จะเห็นคุณตากลุ่มหนึ่งที่สีหน้านิ่งเฉยไม่มีความรู้สึก บ้างก็มีร่างกายที่พิการ เวลาที่พูดคุยด้วยก็ถามคำตอบคำ เหมือนกับทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ฉันห่วงใยพวกเขามากๆ ค่ะ” สิ่งที่สัมผัสได้จากเหล่าอดีตทหารสูงอายุเหล่านี้ คือ ความรู้สึกราวกับพวกเขารอคอยเพียงวันที่จะได้ลาจากโลกนี้ไป ดังนั้นคุณชนิตาจึงบอกกับตัวเองว่า จะพยายามมาเยี่ยมพวกเขาให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ คุณชนิตาเดินทางจากกรุงเทพมหานคร เพื่อมายังภาคเหนือของไทยเป็นประจำทุกเดือน จากเดือนละ 3-4 วัน ก็เป็นเดือนละ 6-7 วัน เป็นต้น คุณชนิตาเล่าต่อว่า “ก่อนวันตรุษจีนในปีหนึ่ง ซึ่งปกติเราจะมอบอั่งเปาให้กับพวกท่านเท่านั้น หรือบางครั้งก็จะมีมูลนิธิอื่นมามอบสิ่งของให้ เสร็จแล้วต่างก็แยกย้ายกันกลับ ตอนนั้นฉันจึงเกิดความคิดว่า อยากให้เหล่าคุณตาได้รับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากันด้วยความอบอุ่นในวันตรุษจีน ดังนั้นฉันจึงได้เสนอแนะความคิดเห็นนี้ในที่ประชุม และจิตอาสาท่านอื่นก็เห็นด้วย สรุปว่าหลังวันตรุษจีนหนึ่งวัน พวกเราจะมาเยี่ยมพวกท่าน เพื่อช่วยกันห่อเกี๊ยวให้เหล่าคุณตาได้รับประทานตามประเพณีของจีน”

นับตั้งแต่ พ.ศ.2539 ที่คุณชนิตา เริ่มก้าวเข้ามาบนเส้นทางฉือจี้ เป็นระยะเวลากว่า 18 ปีแล้ว เมื่อลองมองย้อนกลับไป ก็ทำให้รู้สึกซาบซึ้งใจยิ่งนัก คุณชนิตากล่าวว่า “เมื่อก่อนแม้ฉันจะย้ายมาอยู่ที่ไทยเป็นเวลานานแล้ว แต่กลับไม่รู้จักชาวไต้หวันคนอื่นๆ ที่อยู่ในเมืองไทยเลย จนกระทั่งได้ก้าวเข้ามาในครอบครัวฉือจี้ จึงได้ผูกบุญสัมพันธ์กับญาติธรรมชาวไต้หวันในไทย ทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเพราะคิดถึงบ้านเกิดอีก” นอกจากนั้น คุณชนิตายิ่งรู้สึกขอบพระคุณท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ตนเองได้ศึกษาธรรมะและพัฒนาปัญญา คุณชนิตาพูดด้วยความศรัทธาอันหนักแน่นว่า “ท่านธรรมาจารย์เปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิดสติปัญญากับฉัน บนเส้นทางสายนี้ ฉันไม่เคยหันหลังกลับ และฉันจะมุ่งมั่นพากเพียรบนเส้นทางสายนี้อย่างสุดความสามารถ เพราะฉันได้ก้าวเดินบนเส้นทางที่ถูกต้องแล้วค่ะ”

 

ได้ร่วมดูแลมอบความรักให้กับเด็กๆ ที่สถานสงเคราะห์เด็กด้อยโอกาสวัดโบสถ์วรดิตถ์

ท่านได้ตระหนักถึงความสุขที่ตนเองครอบครัว จากการเห็นความทุกข์ของผู้อื่น นำความเมตตาแปรเปลี่ยนเป็นการดูแล

 

เข้าร่วมการมอบสิ่งของช่วยภัยหนาว นำความรักมอบให้กับพี่น้องทางภาคเหนือของไทย

 

ให้การดูแลอดีตทหารสูงอายุ ณ บ้านพักคนชราบ้านใหม่หนองบัว ดุจดังญาติผู้ใหญ่ของตนเอง

 

ขอบพระคุณบุญสัมพันธ์ ที่ทำให้ได้รู้จัก และพบเจอเหล่าญาติธรรมในครอบครัวฉือจี้อันอบอุ่น

 


เรื่อง บุษรา สมบัติ         ภาพ ฉือจี้ประเทศไทย