กินมังสวิรัติ เลิกเนื้อสัตว์ เคารพชีวิต

20200513 cove-0523edit

“ฉันก็เหมือนคนอื่นๆ ค่ะ ตอนเด็กๆ แม่ให้กินอะไร ฉันก็กินอย่างนั้น ดังนั้นฉันจึงคิดเสมอว่า ทั้งหมูเห็ดเป็ดไก่หรือกุ้งหอยปูปลา ทุกอย่างล้วนเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ ดังนั้นการที่เรากินพวกมัน จึงไม่ใช่สิ่งที่ผิด” จิตอาสาฉือจี้ คุณเฉินอวี่หง บอกเล่าความคิดดั้งเดิมของตนเอง

 

เคารพชีวิต เลิกเนื้อสัตว์หันกินมังสวิรัติ

จากการเชิญชวนของจิตอาสารุ่นพี่ ทำให้ "คุณเฉินอวี่หง" ก้าวเข้ามาร่วมเดินบนเส้นทางวิถีพระโพธิสัตว์ฉือจี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา หลังจากนั้นในชั้นเรียนอบรมจิตอาสาครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2546 ซึ่งมีการเปิดวีดิทัศน์ชุด “เสียงกรีดร้องขอชีวิต” ที่แสดงให้เห็นถึงภาพการสังหารสัตว์ที่ไร้เดียงสาต่างๆ เพื่อนำมาเป็นอาหารของมนุษย์ ทำให้คุณเฉินอวี่หงได้สัมผัสถึงความทุกข์ทรมานของสรรพสัตว์เหล่านั้น จนสะท้อนใจและรู้สึกผิดเป็นอย่างมาก

หลังจากทราบว่า เนื้อสัตว์ทั้งหลาย ล้วนแลกมาจากการสังเวยชีวิตของสัตว์เหล่านั้น ประกอบกับเป็นช่วงที่โรคซาร์สระบาด ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนจึงได้รณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลก หันมาละเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์ “ตอนนั้นฉันได้การ์ดเล็กๆ มาหนึ่งใบ โดยจะให้เราเลือกว่าจะงดกินเนื้อสัตว์หนึ่งวัน สามวัน หนึ่งอาทิตย์หรือหนึ่งเดือน เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีอีกหนึ่งตัวเลือกคือ ทุกภพทุกชาติ ตอนนั้นฉันตัดสินใจเลือกทุกภพทุกชาติค่ะ เพราะฉันต้องการสำนึกบาปที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เพื่อกินเป็นอาหารโดยที่เราไม่เคยรู้มาก่อน” คุณอวี่หงบอกเล่าถึงมูลเหตุในการเริ่มรับประทานอาหารมังสวิรัติของตนเอง

 

ok-20050502-236
จางโย่วฟาง (คนที่ 2 จากซ้าย) ติดตามคุณแม่ คุณเฉินอวี่หง (คนที่ 1 จากซ้าย) ไปเยี่ยมเยียนดูแลผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือตั้งแต่ยังเด็ก

 

เมื่อเอาใจเขาใส่ใจเรา เมื่อนั้นกินมังสวิรัติก็ไม่ใช่เรื่องยาก

ในปี พ.ศ. 2544 ภาพความน่ารักน่าเอ็นดูของเด็กหญิงตัวน้อยวัยเพียง 5 ขวบ ที่มักจะติดตามคุณแม่เข้าไปเยี่ยมเยียนดูแลผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เป็นภาพเมื่อสิบกว่าปีก่อน ที่ทุกคนคุ้นชินเป็นอย่างดี นั่นคือภาพของคุณอวี่หงที่มักจะพาบุตรสาว "จางโย่วฟาง" มาร่วมเป็นจิตอาสาฉือจี้ตัวน้อยด้วย

ในวันที่คุณอวี่หงตั้งปณิธานจะละเว้นจากการรับประทานเนื้อสัตว์ในปี พ.ศ. 2546 นั้น จึงได้นำวีดิทัศน์เรื่อง “เสียงกรีดร้องขอชีวิต” นี้ไปเปิดให้บุตรสาวดูด้วย หลังจากดูจบจึงเอ่ยขึ้นว่า “นับจากนี้เป็นต้นไป เรามากินมังสวิรัติกันดีไหม โย่วฟางก็รีบตอบกลับมาโดยไม่ลังเลเลยว่า ตกลงค่ะ เรามากินมังสวิรัติกัน” เด็กหญิงโย่วฟางในวัย 7 ขวบ จึงเริ่มรับประทานอาหารมังสวิรัติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีคุณแม่คอยเตรียมปิ่นโตให้นำไปรับประทานที่โรงเรียนเป็นประจำทุกวัน

เด็กหญิงโย่วฟางตัวน้อย ไม่เพียงยืนหยัดรับประทานมังสวิรัติด้วยตนเอง ทว่ายังรู้จักชักชวนผู้คนรอบข้างให้ละเว้นจากการกินเนื้อสัตว์ด้วย คุณอวี่หงเล่าว่า “หากเราออกไปกินข้าวกับคนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ โย่วฟางก็จะหยิกมือของเขา แล้วถามว่า เจ็บไหม คนที่โดนหยิกก็จะงงๆ ว่า มาหยิกเขาทำไม เลยตอบกลับมาว่า คนที่โดนหยิกก็ต้องเจ็บอยู่แล้ว โย่วฟางจึงพูดต่อไปอีกว่า ก็นั่นน่ะสิ แค่โดนหยิกนิดหน่อยก็ยังเจ็บ แล้วสัตว์ต่างๆ ที่โดนกินจะไม่เจ็บหรือ โย่วฟางจะใช้วิธีนี้ เพื่อโน้มน้าวให้ทุกคนเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะสัตว์ต่างๆ ก็มีชีวิต มีความรู้สึกเหมือนคน”

คุณเฉินอวี่หงยังได้แบ่งปันอีกว่า แท้จริงแล้ว การไม่รับประทานเนื้อสัตว์นั้นไม่ยากเลย เพราะทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับความคิดของเราเท่านั้น “เวลาเห็นอาหารพวกเนื้อสัตว์ ที่ตอนแรกถึงแม้จะดูน่ากิน แต่ถ้าเราลองย้อนคิดไปถึงลูกเจี๊ยบ ลูกเป็ด หรือลูกสัตว์ต่างๆ ที่เพิ่งลืมตาดูโลก นึกถึงความน่ารักของพวกมัน แต่พอมันโตขึ้น คนก็กลับไปฆ่ามัน ลองนึกถึงภาพความน่ากลัวที่พวกมันต้องเผชิญ ก็จะทำให้เราไม่อยากกินเนื้อพวกมันอีกค่ะ การกินมังสวิรัติในไทย แม้อาจจะยังหากินได้ยาก เพราะมีร้านมังสวิรัติอยู่ไม่มาก แต่ขอเพียงเรามีความมุ่งมั่น ก็จะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคทุกอย่างได้ค่ะ”

 

ok-20090510-1672-byxiaolian

 ความผูกพันระหว่างสองแม่ลูก ในชั้นเรียนยุวชนฉือจี้ จางโย่วฟาง (คนที่ 1 จากขวา) และคุณเฉินอวี่หง (คนที่1 จากซ้าย) ร่วมเล่นเกม "มือของแม่" หากมองไม่เห็น จะยังจำได้ไหมว่ามือไหนคือมือคุณแม่ของตน

 

เชิญชวนร่วมกินมังสวิรัติ เมตตาสรรพสัตว์ที่ต้องสังเวยชีวิตเป็นอาหารมนุษย์

ครั้งหนึ่ง คุณเฉินอวี่หงกับจิตอาสาที่ยังไม่ได้รับประทานอาหารมังสวิรัติแบบเต็มตัว ได้พาเพื่อนที่มาจากไต้หวันไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารทะเลแห่งหนึ่ง เมื่อไปถึง ก่อนเข้าไปสั่งอาหาร เด็กหญิงตัวน้อยโย่วฟาง เห็นตู้ปลาด้านหน้ามีฝูงปลาแหวกว่ายอย่างมีความสุข จึงทบทวนบทเรียนด้วยการนับจำนวนปลาเหล่านั้น “หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด โย่วฟางนับทีละตัวอย่างนี้ค่ะ จากนั้นเราก็เข้าไปกินข้าวกัน กินเสร็จก็กลับออกมา ระหว่างที่พวกผู้ใหญ่กำลังรอจ่ายเงินอยู่ โย่วฟางก็กลับไปที่ตู้ปลานั้นอีกครั้ง แล้วก็นับใหม่ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก และพบว่าปลาหายไปหนึ่งตัว เธอจึงดึงมือของจิตอาสาอีกท่านมาถามว่า เมื่อกี้ที่นับได้ คือมีปลาอยู่ 7 ตัวนะ แต่ทำไมตอนนี้มันถึงหายไปหนึ่งตัว จิตอาสาคนนั้นจึงได้แต่ตอบไปตามตรงว่า มันก็ไปอยู่บนโต๊ะอาหารของเราไง ได้ยินอย่างนั้น โย่วฟางจึงพูดขึ้นว่า ทำไมทุกคนถึงกินมันลงได้ เมื่อได้ยินเด็กหญิงตัวน้อย ที่รู้จักมีเมตตาจิตต่อสัตว์ต่างๆ ก็ทำให้จิตอาสาคนนั้นประทับใจมาก สุดท้ายก็หันมารับประทานมังสวิรัติเต็มตัวด้วยเหมือนกันค่ะ” คุณเฉินอวี่หงเล่าถึงเรื่องราวการผลักดันให้คนรอบข้างมาร่วมรับประทานมังสวิรัติของบุตรสาว

“จางโย่วฟาง” เด็กหญิงตัวน้อยในวันวาน วันนี้กลายเป็นหญิงสาววัย 20 กว่าปี ได้ตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการรับประทานมังสวิรัติ เพราะไม่เพียงดีต่อสุขภาพของผู้กิน แต่ยังเป็นพลังสำคัญในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลกด้วย เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุปสงค์ของการผลิตเนื้อสัตว์ในตลาด ซึ่งจากการศึกษาอย่างกว้างขวางและรายงานทางวิชาการได้ระบุอย่างแน่ชัดแล้วว่า การเลี้ยงสัตว์เป็นฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อการค้า นำไปสู่การใช้ทรัพยากรมหาศาล และผลิตของเสียออกสู่ธรรมชาติจนเกิดมลภาวะต่อโลก นอกจากนี้ การปศุสัตว์โดยเฉพาะการผลิตเนื้อสัตว์เชิงการค้า ยังเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ได้แก่ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น อันนำไปสู่การเกิดสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จนกลายเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่นับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 

ok-20130825-08-byboonwuikong

จางโย่วฟาง ที่เริ่มรับประทานมังสวิรัติตั้งแต่อายุเพียง 7 ขวบ ไม่เพียงมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ แต่ยังเป็นผู้มีจิตอาสา ยินดีบริการช่วยเหลือผู้อื่น โดยมาร่วมเป็นครูอาสาชั้นวาทะจิ้งซือภาษาไทย-จีน ให้กับนักเรียนทุนการศึกษาฉือจี้

 

อุทิศตนเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก ร่วมบริการอาหารมังสวิรัติ

คุณเฉินอวี่หง ได้เข้ารับรองวุฒิเป็นกรรมการฉือจี้ เมื่อปี พ.ศ. 2548 พร้อมทั้งขอบพระคุณธรรมะจากท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน ที่คอยเคียงข้างช่วยเตือนสติให้ตนเองยืนหยัดก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ที่ประสบพบเจอในชีวิต ในปี พ.ศ. 2540 คุณอวี่หงได้เดินทางเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานในเมืองไทย แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้โรงงานต้องปิดตัวลง ในระหว่างนี้พบว่า ภายในโกดังยังคงมีผ้าอีกจำนวนมาก จึงเสาะหาสถานที่เพื่อจำหน่ายผ้าเหล่านี้ โดยคาดไม่ถึงเลยว่า จะทำให้พบช่องทางใหม่ในการทำธุรกิจ จากบทบาทของผู้ผลิตสู่บทบาทของผู้จัดจำหน่าย “ตอนที่พบความทุกข์ ฉันจะใช้คำสอนของท่านธรรมาจารย์ที่ว่า ขอให้พอเพียง ขอบคุณ คิดบวกและให้อภัย มาเป็นกำลังใจให้ตนเองค่ะ แล้วก็จำได้ว่า เคยมีจิตอาสาท่านหนึ่งแบ่งปันไว้ว่า เมื่อคุณพบวิกฤติในชีวิตก็ขอให้อย่าท้อแท้ เพราะจริงๆ แล้ว ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ดีกว่าเสมอ ฉันเลยย้อนมามองตัวเองว่า หากโรงงานของฉันไม่ปิดตัวลง ฉันคงไม่มีโอกาสได้เข้ามาทำธุรกิจค้าขายผ้าอย่างทุกวันนี้ ซึ่งธุรกิจนี้ก็มีผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจกว่าในอดีตค่ะ”

 

หลังจากพายุพายุไซโคลนนาร์กีส พัดถล่มเมียนมาร์เมื่อปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน กำชับทุกคนเสมอว่า “มหาภัยพิบัติสะเทือนโลก คือ คำเตือนให้ต้องรู้ตระหนัก” วิกฤติการณ์โลกร้อนที่นับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้พิบัติภัยต่างๆ เกิดขึ้นมากตามไปด้วย ดังนั้น คุณเฉินอวี่หงจึงตั้งปณิธานจะบริการอาหารเที่ยงซึ่งเป็นมังสวิรัติให้กับพนักงานทั้ง 8 คนของตนเองรับประทานเป็นประจำ คุณอวี่หงเล่าว่า “ตอนนั้นฉันคิดแค่ว่า โลกเรามีภัยพิบัติเกิดขึ้นบ่อยมาก เลยอยากจะให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการลดพิบัติภัยที่จะเกิดขึ้นนี้ แต่ฉันก็ไม่รู้ว่าตัวฉันเองทำอะไรได้บ้าง ฉันจึงคิดขึ้นได้ว่า อยากให้พนักงานของฉันได้มีโอกาสกินมังสวิรัติอย่างน้อยวันละหนึ่งมื้อ ซึ่งตอนแรก ฉันคิดว่าจะลองทำดูก่อนสักปี แต่สุดท้ายก็ทำมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ค่ะ” คุณอวี่หงเข้าใจถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลก เพราะโลกเป็นเสมือนบ้านหลังใหญ่ของทุกชีวิต ดังนั้นท่านจึงจัดซื้ออาหารมังสวิรัติเพื่อบริการเป็นอาหารเที่ยงให้พนักงานทุกวันต่อเนื่องมานานนับสิบปี

 

คุณเฉินอวี่หงยังเล่าว่า ก่อนหันมารับประทานอาหารมังสวิรัติแบบเต็มตัว เมื่อไปร้านอาหารกับเพื่อนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ตัวเองยังกินมังสวิรัติบ้างเป็นครั้งคราว ดังนั้นในมื้อถัดไป ก็มักจะกินเนื้อสัตว์เพิ่มมากขึ้น เพื่อทดแทนมื้อก่อนหน้าที่งดไป เพราะเคยคิดว่า ตนเองทำงานหาเงินมาอย่างเหน็ดเหนื่อย ก็ต้องรู้จักให้รางวัลกับตัวเองบ้าง มื้อนี้ต่อให้อร่อยหรือดีแค่ไหน มื้อหน้าจะต้องหรูหราและดีกว่านี้เสมอ ทำให้ต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์จำนวนมาก เพื่อตอบสนองความต้องการลิ้มลองรสชาติของตนเอง ชีวิตก็ยิ่งฟุ้งเฟ้อ มีเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ นี่คือสิ่งที่ทำให้คุณอวี่หงรู้สึกผิดเป็นอย่างมาก “หลังจากหันมากินมังสวิรัติ ฉันรู้สึกได้เลยค่ะว่ากิเลสของตัวเองลดลง เพราะเมื่อก่อนจะเรียกร้องเสมอว่า มื้อหน้าต้องดีกว่านี้ แต่พอกินมังสวิรัติ ก็จะคิดแค่ว่า เรากินเพื่อให้มีแรงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เท่านั้น ทำให้วิถีชีวิตหลายๆ อย่างเรียบง่ายขึ้นค่ะ” คุณอวี่หงเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง “ความต้องการ” กับ “ความจำเป็น” ทำให้ละลดความอยากมีอยากได้ จุดประกายเมตตาจิต หันมารับประทานมังสวิรัติไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ ร่วมเป็นจิตอาสา เสียสละเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ นั่นเพราะมีเพียงการละเลิกจากการสร้าง “วิบากกรรม” หันมาสร้าง “บุญกุศล” เท่านั้น จึงจะทำให้ห่างไกลจากภัยพิบัตินานาได้ 

 


   เรื่อง  บุษรา สมบัติ      ภาพ  บุษรา สมบัติ , เหวินเหว่ยกวง