“ศรัทธา” คือ บ่อเกิดแห่งบุญกุศล และบ่มเพาะรากฐานแห่งความดีทั้งหลาย หากเรามีศรัทธาแล้ว ย่อมเป็นรากฐานให้เราเดินบนถนนสายบุญกุศลนี้ได้อย่างราบรื่น ดังนั้น เราจึงต้องใช้สติปัญญาในการเลือก ไม่ว่าจะเป็นคน เรื่องราว หรือวัตถุ หากเราเลือกแล้ว ก็ต้องเชื่อมั่น ไม่ควรคลางแคลงสงสัยอีก เช่นนี้จึงจะถูกต้อง
หากจิตใจเรามีแต่ความทุกข์กังวล ก็เหมือนปมที่คลายไม่ออกอยู่บ่อยๆ ดังนั้นเราจึงต้องเชื่อมั่น เมื่อมีศรัทธาที่ถูกต้องจึงจะเป็นกุศล หากไม่ถูกต้องไม่เป็นกุศล ก็จะออกนอกลู่นอกทาง เอนเอียงสู่อกุศล ดังนั้นความลังเลสงสัย จึงเป็นความมืดอย่างหนึ่ง จิตใจที่ปราศจากแสงสว่างแห่งปัญญา จึงง่ายต่อการปิดประตูใจไม่ยอมรับแสงที่สว่างไสว เราต้องเตือนตนเองอยู่เสมอว่า อย่าเกิดความลังเลสงสัย ในธรรมะอันถูกต้องแท้จริง มิฉะนั้นหากได้เบี่ยงเบนไปเพียงนิด สุดท้ายก็จะห่างไกลจากเป้าหมายไปพันลี้
รูปโดย ดรรชนี สุระเทพ
ชายตาบอดถือตะเกียง
มีชายผู้หนึ่งเดินทางไปร่วมทำวัตรเช้าที่วัด ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านของเขาอย่างมาก เมื่อคนในวัดเริ่มเคาะไม้ให้เสียงสัญญาณแล้ว จึงเห็นชายผู้หนึ่งยืนอยู่หน้าประตูวัด
เมื่อคนจุดธูปเทียนบูชาเห็นชายผู้นั้น จึงถามขึ้นว่า “ทำไมท่านถึงมาเช้าเช่นนี้” ชายผู้นั้นตอบว่า “ผมจะมาทำวัตรเช้าครับ” เมื่อลองดูให้ชัดๆ เขาจึงถามไปอีกว่า “โธ่ ทำไมท่านถึงไม่ถือตะเกียงมาล่ะ ท้องฟ้ายังมืดอยู่เลย หนทางก็แคบ ท่านไม่ถือตะเกียง แล้วเดินมาได้อย่างไร”
ชายผู้นั้นบอกว่า “ไม่จำเป็นครับ ตะเกียงไม่มีประโยชน์ต่อผม เพราะว่าผมเป็นคนตาบอด จะมีหรือไม่มีตะเกียงก็ไม่ต่างกัน
เมื่อคณะสงฆ์เดินเข้ามาแล้ว จึงเริ่มสวดมนต์ด้วยน้ำเสียงอันน่าเลื่อมใส ชายผู้นั้นกลับกระจ่างในความหมายบทสวด หลังจากการทำวัตรเช้าแล้ว เขาจึงได้เข้าไปสอบถามพระอาจารย์ ถึงบทต่างๆ ในพระสูตร
พระอาจารย์จึงถามว่า “ท่านศึกษาพระสูตรมานานแค่ไหนแล้ว”
ชายผู้นั้นตอบว่า “ไม่เคยครับ ผมได้แต่คิดว่า ชีวิตคนเราไม่ยืนยาว จากนี้ไปผมจะรีบเข้าใกล้พระธรรม ค้นหาสัจธรรม ดังนั้นวันนี้จึงเป็นวันแรก ที่ผมมาทำวัตรเช้าโดยเฉพาะครับ”
พระอาจารย์จึงกล่าวว่า “ท่านมาทำวัตรเช้าครั้งแรก มาตั้งแต่เช้าตรู่ แต่ทำไมถึงไม่ถือตะเกียงมา ไม่กลัวหรือว่าระหว่างทาง จะพลัดตกลงไปในคลอง”
ชายผู้นั้นกล่าวว่า “ไม่หรอกครับ ผมรู้จักทางดี เพียงแต่ผมมาทำวัตรเช้าเป็นครั้งแรกเท่านั้น ก่อนหน้านี้ผมเคยตามชาวบ้านมาที่วัดนี้มาก่อน ดังนั้น ผมจึงจำทางได้ดีครับ”
พระอาจารย์ ยังถามต่อว่า “ท่านมาทำวัตรเช้าครั้งแรก ทำไมจึงจำได้มากมายขนาดนี้ เมื่อก่อนเคยศึกษาพระธรรมหรือ”
ชายผู้นั้นตอบว่า “ไม่เคยครับ ผมไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย แต่ว่าเมื่อเช้านี้ เมื่อผมได้ยินพระอาจารย์สวดมนต์ ผมกลับเข้าใจแจ่มแจ้ง เพียงแต่มีคำถามอยู่บางแห่ง จึงมาขอคำแนะนำจากพระอาจารย์ครับ”
เมื่อตกเย็น ท้องฟ้าก็เริ่มมืด เขาต้องกลับแล้ว จึงถามพระอาจารย์ว่า “ผมขอยืมตะเกียงสักดวงได้ไหมครับ” พระอาจารย์ถามว่า “ท่านบอกว่า ตะเกียงไม่มีความจำเป็นต่อท่านมิใช่หรือ ตอนเช้าฟ้ายังไม่สาง ท่านยังเดินมาได้ แล้วตอนนี้เมื่อฟ้ามืด ทำไมถึงต้องใช้ตะเกียงด้วย”
ชายผู้นั้นอธิบายว่า “ผมออกมาแต่เช้า โดยเชื่อมั่นว่า เช้าขนาดนั้นตามทางต้องไม่มีใครอย่างแน่นอน ดังนั้นผมย่อมไม่ถูกคนอื่นเดินชน แต่ตอนนี้เมื่อฟ้าเริ่มมืดแล้ว กว่าจะเดินถึงหมู่บ้าน ฟ้าย่อมมืดสนิท หากผมไม่ถือตะเกียง ชาวบ้านอาจจะเดินชนผมได้ ดังนั้น ขากลับผมจึงต้องถือตะเกียง เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นเดินชนผมครับ”
นี่เป็นแค่นิทาน ทว่าแท้จริงแล้ว ชีวิตคนเราล้วนเป็นเช่นนี้มิใช่หรือ ทุกคนต้องมีปัญญา เช่นชายตาบอดผู้นี้ แม้ดวงตาจะมองไม่เห็น แต่ดวงใจของเขามองเห็น เพราะรู้ทาง เขาจึงเชื่อมั่นในตนเอง ว่าแม้ท้องฟ้าจะยังไม่สว่างและมืดมิดเพียงใด ก็ยังสามารถเดินทางมาถึงวัดได้อย่างสวัสดิภาพโดยไม่หกล้ม นี่คือ ความเชื่อมั่นในตนเองของเขา ทว่าเมื่อจะกลับบ้าน ทำไมเขาต้องถือตะเกียง เพราะเขาต้องการป้องกันตัว ไม่ให้ชาวบ้านเดินมาชน เขาเชื่อมั่นในตนเอง แต่เขาไม่กล้าที่จะเชื่อมั่นในผู้อื่น ดังนั้นจึงต้องถือตะเกียงตอนขากลับ
การจะเชื่อมั่นในตนเอง และยังเชื่อมั่นในผู้อื่นได้ จำเป็นต้องใช้ปัญญาระดับสูง คนเราล้วนแล้วแต่คลางแคลงใจซึ่งกันและกัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จิตใจของเราก็ย่อมว้าวุ่น เส้นทางชีวิตก็ย่อมมืดมน ทั้งๆ ที่เป็นถนนสายที่ราบเรียบ แต่เรากลับทำให้เป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยอุปสรรคเสียเอง อุปสรรคนี้คือ ความแคลงใจ ดังนั้น เราจึงต้องเตือนตัวเองให้ดี ว่าอย่าสงสัยในตัวเอง และอย่าแคลงใจในผู้อื่น หากเราแคลงใจในผู้อื่น เราจะไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้เลย
มักกล่าวอยู่เสมอว่า “หากมีคนสามคนเดินมา ในนั้นอย่างน้อย ต้องมีหนึ่งคนเป็นครูของเราแน่นอน” ทุกคนล้วนเป็นครูของเราได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบบอย่างในด้านที่ดีหรือด้านที่ไม่ดี เป็นการแสดงออกเพื่อให้เราได้เห็นและได้เรียนรู้ อย่านำเรื่องใดๆ ของใครมาเป็นความบาดหมาง หากเกิดความบาดหมางขึ้น เราก็ต้องรู้จักนำมาเป็นบทเรียน ด้วยปัญญาของเรา ทำให้เราเชื่อมั่นในตัวเองได้ เรื่องไหนผิดหรือถูกเราแยกแยะได้ แต่ก็อย่ามองข้ามผู้อื่น ไม่จำเป็นต้องแคลงใจในผู้อื่น ต้องสร้างปัญญาของตนเองขึ้น ต้องเชื่อมั่นเช่นนี้ อย่าสงสัยในตนเอง
ทุกท่าน เราควรใช้จิตใจอันเรียบง่ายบริสุทธิ์ ไปเรียนรู้จากเหล่ากัลยาณมิตร หากทำได้เช่นนี้ ย่อมถูกต้องดีแล้ว