1
ร่วมเดินบนวิถีโพธิสัตว์ เผยแผ่ธรรมะขจรไกล
รอยยิ้มอบอุ่น ท่าทีอ่อนโยน สื่อให้เห็นถึงความมีจิตใจดีงาม “คุณจารุวรรณ หีบท่าไม้” หรือ “แมว” พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี นอกจากมุ่งมั่นในอาชีพการ
งานแล้ว ยังทุ่มเทแรงกายแรงใจ ทำงาน“จิตอาสาฉือจี้” ซึ่งเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญในชีวิต
การอบรมสั่งสอนที่ดีจากครอบครัว บ่มเพาะให้คุณจารุวรรณเติบโตเป็นคนที่มีกิริยาเรียบร้อย และไม่เพียงเท่านั้น คุณจารุวรรณยังหมั่นศึกษาธรรมะ บ่มเพาะความดีงามในใจตนอยู่เสมอ โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะสามารถทำหน้าที่เป็นผู้เผยแผ่ศาสนา แบ่งปันธรรมะกับคนอื่นๆ แต่ด้วยหลากหลายเหตุผลที่ไม่เอื้ออำนวยในช่วงเวลานั้น ทำให้คุณจารุวรรณทำได้เพียงทำบุญให้ทานในวันหยุด หมั่นศึกษาธรรมะเมื่อมีเวลาว่าง สิ่งดีๆที่ตนได้เรียนรู้จึงจำกัดอยู่แค่เฉพาะตน
จนกระทั่ง พ.ศ.2551 จิตอาสาฉือจี้ คุณสุชน แซ่เฮง และคุณเมตตา ชิว ได้รับเชิญให้ไปแบ่งปันเรื่องราวฉือจี้ที่โรงพยาบาลโพธาราม จากการบรรยายของจิตอาสาฉือจี้ทั้งสอง จุดประกายความกุศลจิตและปีติสุขเปี่ยมล้นในจิตใจ คุณจารุวรรณ แบ่งปันว่า “พอเราฟังธรรมะในแนวของท่านธรรมาจารย์ ในแนวของฉือจี้ เราก็รู้สึกว่าแนวนี้ก็ใช่นะ เป็นแนวที่เรามองหาอยู่ และเราก็ตั้งใจว่าสักวันนึงเราคงจะไปเป็นแบบนั้น ”
นับจากวันนั้น คุณจารุวรรณก็เริ่มเข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆของมูลนิธิพุทธฉือจี้มากขึ้น แต่ด้วยภาระงานอีกทั้งต้องดูแลครอบครัว จึงไม่สามารถทำงานจิตอาสาฉือจี้ได้อย่างเต็มที่นัก อย่างไรก็ตาม คุณจารุวรรณยังคงยืนหยัดในเส้นทางพระโพธิสัตว์นี้ และค่อยๆซึมซับแนวคิดการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ต่อมาในปี พ.ศ.2553 จึงตัดสินใจเข้าร่วมชั้นเรียนอบรมกรรมการฉือจี้ คุณจารุวรรณบอกเล่าเหตุผลว่า “พอเรามาเรียนรู้ฉือจี้แล้วรู้สึกว่ามันใช่ชีวิตเราค่ะ เพราะในขณะที่เราแบ่งสรรเวลาของเราไปช่วยเหลือผู้อื่นนั้น เราก็ยังได้ทำในสิ่งที่เราชอบ ได้ปฏิบัติธรรมอีกด้วย”
หลังผ่านการอบรมแล้ว คุณจารุวรรณได้เดินทางไปยังไต้หวันเพื่อรับรองวุฒิกรรมการฉือจี้กับท่านธรรมาจารย์ ในปปลายปี พ.ศ.2554 อันหมายถึง การเริ่มต้นเป็นจิตอาสาฉือจี้อย่างเป็นทางการ
ในแต่ละกิจกรรมของฉือจี้ มักจะรับหน้าที่เป็นพิธีกร แบ่งปันเรื่องราวฉือจี้แก่ผู้ร่วมกิจกรรม
2
ยินดีเสียสละเวลาส่วนตน เพิ่มเวลางานจิตอาสา
08.00-16.00 ของทุกวันจันทร์-ศุกร์ ณ แผนกจิตเวช โรงพยาบาลโพธาราม คือช่วงเวลาที่คุณจารุวรรณ ทุ่มเทบริการผู้ป่วยกับอาชีพที่ตนรัก หลังเลิกงานหรือวันหยุด คือช่วงเวลาที่รอคอยสำหรับทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว
หลังจากตัดสินใจมุ่งทำงานจิตอาสาในครอบครัวแห่งรักอันยิ่งใหญ่ของฉือจี้แล้ว คุณจารุวรรณตระหนักว่า “สิ่งที่มีค่ามากที่สุดในชีวิต คือ เวลา” จึงจัดสรรเวลาในการใช้ชีวิตประจำวันใหม่ เพื่อเพิ่มเวลาการทำงานจิตอาสาให้มากขึ้น โดยไม่รบกวนเวลาทำงาน ไม่ละเลยเวลาของครอบครัว อาทิเช่น ปรับเปลี่ยนการนอนแบบถูกสุขอนามัย ซึ่งเดิมทีต้องนอนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง “เราก็นอนให้น้อยลง ตอนนี้เหลือประมาณ 4-5 ชั่วโมง ซึ่งถามว่าสุขภาพเราแย่ลงมั้ย ก็ไม่แย่นะคะ แต่เวลาเราเหลือมากขึ้นค่ะ ”
อีกทั้งกระชับเวลาที่เคยสิ้นเปลืองไปในการรับประทานอาหารเช้า เที่ยง เย็น มื้อละ 1 ชั่วโมง หรือคิดเป็น 3 ชั่วโมงต่อวัน “ตอนนี้เหลือเวลาทานข้าวประมาณแค่ 1-2 นาทีเองค่ะ แปบเดียวเราก็อิ่มแล้ว พออิ่มปุ๊บ เราก็สามารถวิ่งไปทำอะไรอย่างอื่นได้ หรือไม่ก็ทานไปและก็ทำงานไปด้วยค่ะ”
หากคิดคำนวนเวลาตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว คุณจารุวรรณจะมีเวลาว่างสำหรับทำงานจิตอาสามากขึ้น อย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมงเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ จึงมักเห็นคุณจารุวรรณเกือบในทุกกิจกรรมของฉือจี้
เข้าร่วมสมาคมแพทย์อาสาฉือจี้นานาชาติ (TIMA)ดังนั้นในกิจกรรมบริการชุมชน รักษาพยาบาลฟรีทุกๆเดือน มาร่วมกิจกรรมบริการผู้ป่วยเสมอ
3
ก้าวข้ามอุปนิสัยส่วนตน ทุ่มเททำงานเพื่อส่วนรวม
“ความใฝ่ฝันตั้งแต่เล็ก คือ อยากทำงานในห้องแอร์ค่ะ ไม่อยากทำงานที่ตากแดดและก็ร้อน” ถึงแม้จะไม่ได้ทำงานธนาคาร หรือนักบัญชีอย่างที่ใฝ่ฝันไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม แต่การประกอบอาชีพเป็นพยาบาล อาชีพซึ่งต้องทำงานอยู่ในโรงพยาบาล ยังถือว่าได้ทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อม ที่ไม่ไกลจากที่คุณจารุวรรณคาดฝันไว้เท่าใดนักแต่ในการทำงานจิตอาสาฉือจี้ คุณจารุวรรณช่วยงานหลากหลายอย่าง ทั้งเป็นพิธีกรบอกเล่าเรื่องราวฉือจี้ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังจัดเตรียมงานต่างๆ เป็นต้น
ในเบื้องหลังกิจกรรม ช่วยเตรียมผลไม้และขนมว่าง สำหรับบริการผู้ร่วมกิจกรรม
หรือแม้แต่งานที่ขัดแย้งกับอุปลักษณะนิสัยของตน คุณจารุวรรณก็ยังคงยินดีทำอย่างเต็มที่เสมอ “เวลาเรามาทำงานฉือจี้ เราพบว่า เราไม่ได้ทำงานอยู่ในห้องแอร์ บางครั้งเราต้องอยู่กลางแดด บางครั้งก็อาจะต้องเลอะเทอะ อย่างเช่น การเยี่ยมเคสครอบครัวผู้ยากไร้ เราต้องทำทุกอย่าง ทั้งล้างชาม ทำความสะอาดห้องน้ำ หรือเก็บที่นอน เป็นต้น ซึ่งมันตรงกับข้ามกับความคิดเดิมของเรา แต่ทำแล้วมีความสุขนะคะ พอเราทำงานเสร็จแล้ว เราเห็นทุกอย่างดีขึ้น ไม่ว่าผู้คนหรือข้าวของเครื่องใช้ และในเวลานั้นเราก็ลืมตัวเองไปเลยค่ะ ไม่ได้นึกถึงตัวเองแล้ว”
ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ลืมที่จะใช้อุปนิสัยของตน เช่น ความเป็นคนเจ้าระเบียบ หรือรักความสะอาด ปรับใช้เกิดประโยชน์งานจิตอาสา ดังนั้น ทุกกิจกรรมที่ผ่านมือคุณจารุวรรณจึงสำเร็จลุล่วงด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อยเสมอ
แม้จะเป็นคนขี้ร้อน แต่ไม่กลัวความลำบาก ช่วยทำความสะอาดแผลให้ผู้ยากไร้โดยไม่กลัวความเลอะเทอะ
4
กล้าเดินสู่มวลชน บอกเล่าเรื่องราวฉือจี้ เชิญชวนผู้คนร่วมทำความดี
แม้จะมีความใฝ่ฝันอยากเป็นผู้เผยแผ่ศาสนา แบ่งปันธรรมะกับผู้คน แต่ความเป็นตัวเองบางอย่างก็ไม่สอดคล้องเท่าใดนัก โดยเฉพาะการเป็นกรรมการฉือจี้ ซึ่งจะต้องมีสมาชิกผู้บริจาคอย่างน้อย 25 ครอบครัว สร้างความกังวลใจไม่น้อย เพราะแรกเริ่มเดิมทีนั้น คุณจารุวรรณไม่ค่อยสะดวกใจนักที่จะเอ่ยปากขอให้ใครๆมาร่วมบริจาค เพราะเกรงว่าคนอื่นๆจะคลางแคลงสงสัย ว่าตนซึ่งอยู่ในครอบครัวที่เป็นที่รู้จักในท้องที่ ฐานะทางครอบครัวไม่ได้ลำบากขัดสน ทำไมจะต้องมาขอบริจาคเงินกับคนอื่น จะหลอกลวงหรือนำเงินไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมหรือไม่
เหล่าญาติธรรมฉือจี้ก็คอยให้กำลังใจและสนับสนุนอยู่เสมอ ต่อมาเมื่อได้ฟังคำพูดประโยคหนึ่ง ทำให้คุณจารุวรรณเปลี่ยนแปลงความคิดใหม่ “เราก็มาเรียนรู้จากจิตอาสาอาวุโส นั่นก็คือคุณเมตตา ชิว ซึ่งบอกว่า หากเรากล้าที่จะพูด กล้าที่จะเป็นสะพานบุญ เราก็จะได้สมาชิกออมบุญ และเขาคนนั้นก็จะเป็นคนดีเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคน ”
นำนักเรียนทุนการศึกษาฉือจี้ เสิร์ฟน้ำชาบริการและช่วยตัดเล็บให้ผู้ป่วย
เมื่อความกลัวที่อยู่ภายในจิตใจได้ทลายลง คุณจารุวรรณ ค่อยๆรวบรวมความกล้า เริ่มเอ่ยปากบอกเล่าเรื่องราวฉือจี้ และเชิญชวนบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้กับญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง แม้หลายครั้งหลายคราจะถูกปฏิเสธ แต่ไม่ได้บั่นทอนกำลังใจ หากแต่เป็นแรงผลักดันให้คุณจารุวรรณไม่ท้อถอย จนปัจจุบันมีสมาชิกบริจาค 173 คน คุณจารุวรรณยังคงมุ่งมั่นต่อไป และตั้งปณิธานว่า จะบอกบุญเชิญผู้คนร่วมบริจาค เพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกบริจาคให้มากขึ้นไปในแต่ละเดือนอีกด้วย
คุณจารุวรรณยังแบ่งปันหนึ่งในเรื่องราวประทับใจว่า “สำหรับสมาชิกผู้บริจาคบางคน เราก็ถามเขาตรงๆว่า ทำไมคุณถึงกล้ามาร่วมขอทำบุญกับเราทุกๆเดือน เชื่อใจเรายังไง เขาก็บอกว่า เห็นเรากินมังสวิรัติ ไม่ซื้อเนื้อสัตว์ และช่วยเหลือสังคม เขาก็เลยเชื่อว่า เราไม่ได้เอาเงินของเขาไปทำอะไรที่ไม่ดี และคงจะเอาเงินไปช่วยสังคมจริงๆ”
นำนักเรียนทุนการศึกษาฉือจี้ทำความสะอาดบ้านของครอบครัวผู้ยากไร้
5
แบ่งปันธรรมะ บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงาม จากหนึ่งสู่เอนกอนันต์
เมื่อก้าวสู่ครอบครัวแห่งรักอันยิ่งใหญ่ของฉือจี้ คุณจารุวรรณก็เริ่มช่วยคุณเมตตา ในส่วนของงานฝ่ายอบรมจิตอาสาฯซึ่งไม่เพียงทำให้คุณจารุวรรณได้ค่อยๆสั่งสมประสบการณ์ หากยังปรับเปลี่ยนอุปนิสัยของด้วย คุณจารุวรรณ แบ่งปันว่า “เดิมทีเดียวเราไม่เป็นคนที่ไม่ง้อใคร และเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบไปยุ่ง ไปสอน หรือไปจ้ำจี้จำไชกับคนอื่น ตรงนี้เป็นสิ่งที่ตัวเองได้เปลี่ยนไป ก็คือ เรามีความรู้สึกอยากเข้าหาสังคม อยากเข้าหาคนอื่น อยากพูดคุย อยากชี้แนะ อยากเชิญชวนให้ผู้คนให้มาเป็นจิตอาสามากขึ้นค่ะ”
คุณจารุวรรณ รับหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายอบรมจิตอาสาฉือจี้ เพื่อสืบสานธรรมะ บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงาม
3-4 ปีที่ผ่านมา คุณเมตตา ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายอบรม มีความประสงค์จะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ฉือจี้ให้หยั่งรากลึกในจังหวัดเชียงใหม่ จึงเดินทางไปจัดกิจกรรมอบรมจิตอาสาฉือจี้ให้คุณครู และผู้ปกครองโรงเรียนฉือจี้เชียงใหม่อยู่หลายครั้ง แต่เนื่องด้วยระยะทางอันไกลเกือบ 1,000 กิโลเมตร ต้องใช้เวลานั่งรถแต่ละเที่ยวนานถึง 10 ชั่วโมง ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ด้วยเหตุนี้ คุณเมตตาจึงตัดสินใจย้ายบ้านไปที่จังหวัดเชียงใหม่ และส่งต่อหน้าที่อบรมจิตอาสาที่กรุงเทพมหานคร ให้คุณจารุวรรณดูแลต่อไป
คุณจารุวรรณก็ยินดีสานต่อภาระหน้าที่ และเริ่มทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายอบรมในปี พ.ศ.2558 หากนับตั้งแต่ พ.ศ.2551 ที่คุณจารุวรรณช่วยทำงานด้านการอบรมแล้ว ถือว่าคุณจารุวรรณ มีส่วนช่วยให้อบรมกรรมการและสัตยบุรุษฉือจี้มาแล้ว 67 คน ดังนั้น ธรรมะที่คุณจารุวรรณที่ได้ศึกษาเรียนรู้ จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะตนเอง หากแต่ค่อยๆขยายจากหนึ่งไปสู่เอนกอนันต์แล้ว
เข้าสู่ปีที่ 11 บนวิถีโพธิสัตว์ฉือจี้ คุณจารุวรรณยังคงมุ่งมั่นต่อไป ด้วยจิตใจมั่นคงไม่สั่นคลอน เพื่อเป็นหนึ่งในฟันเฟือง ร่วมบ่มเพาะผู้คนให้เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม พัฒนาสังคมไทยให้ดียิ่งๆขึ้นไป
เรื่อง ดรรชนี สุระเทพ ภาพ พิณญ์ธิชา จันทร์สุขศรี, จรรยพร เข้มแข็ง, ทัศนีย์ นันทานิช, วุฒิสิทธิ์ เก็บเงิน, ณัฐธยาน์ ธนัทกิตติพงศ์