พระพุทธองค์มักจะใช้การอุปมาอุปไมยเพื่อสอนสั่งสานุศิษย์ ดังเช่นในนิทานชาดกตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่กับสงฆ์สาวกจำนวนมาก ณ วัดเชตวันนั้น เช้าวันหนึ่งเหล่าภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่ง ได้ล้อมวงกันเสวนาว่า มีพระสงฆ์ที่เจ้าโวหาร คารมคมคาย ซึ่งพูดจาดีฟังเหมือนจะมีเหตุมีผลรูปหนึ่ง ทว่ากลับมีพฤติกรรมส่วนตัวที่ชอบหลอกลวงผู้คน และทำผิดกฏอยู่เสมอ ดังนั้น เหล่าภิกษุสงฆ์จึงคิดว่า ภิกษุที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม จึงได้หาตัวแทนเพื่อนำเรื่องนี้ไปรายงานแด่พระพุทธองค์
เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบ จึงประทับนั่งลงตรัสกับเหล่าภิกษุสงฆ์ว่า “มาเถิด เราจะเล่าให้ฟัง” เหล่าภิกษุสงฆ์จึงนั่งลง ก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสต่อว่า “นี่เป็นอุปนิสัยของภิกษุรูปนั้น เขามีใจอยากปฏิบัติธรรม เพียงแต่อุปนิสัยเดิมยากที่จะแก้ไขได้ ไม่เพียงแค่ชาตินี้ อดีตชาติของเขาก็เช่นเดียวกัน ไม่เพียงแค่ในภพภูมิของมนุษย์ แม้แต่เมื่อครั้งตกอยู่ในภพภูมิของสัตว์ เขาก็มีอุปนิสัยเช่นนี้” เหล่าสงฆ์สาวกต่างฟังและถามต่อด้วยความสนใจ ครั้นแล้วพระพุทธองค์จึงเข้าฌาน และกล่าวกับลูกศิษย์ว่า
รูปโดย ศุภักษร ธิกา
จ่าฝูงหนูป่ากับแร็กคูน
กาลครั้งหนึ่งมีจ่าฝูงหนูป่าตัวหนึ่ง จะนำฝูงหนูป่าออกไปหากินในป่าใหญ่อย่างอิสระเสรี ตอนเช้าออกหาอาหาร ตอนเย็นทั้งฝูงก็กลับเข้ารัง ดำเนินชีวิตอย่างมีระบบระเบียบเช่นนี้เรื่อยมา
จนกระทั่งวันหนึ่ง มีแร็กคูนซึ่งโดนขับไล่ไสส่งจากป่าผืนอื่นตัวหนึ่ง ระเห็ดเร่ร่อนด้วยความอับอายมาจนถึงป่าแห่งนี้ ในขณะที่มันกำลังคิดว่า จะดำรงชีพอยู่ในป่าแห่งนี้อย่างไรดี ทันใดนั้น เจ้าแร็กคูนก็เห็นหนูป่าฝูงใหญ่กำลังเดินแถวกลับเข้ารังอย่างเป็นระเบียบ ภายใต้การนำของจ่าฝูง มันจึงครุ่นคิดว่า “ข้าจะทำอย่างไร จึงจะมีอาหารดีๆ ให้กินได้ทุกวัน”
รุ่งขึ้นเจ้าแร็กคูนจึงยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามด้านหน้ารังหนูป่า โดยยกขา 3 ข้างขึ้น เหลือขาที่กำลังเหยียบพื้นดินอยู่เพียงหนึ่งข้าง หันหน้าไปหาแสงแดดที่กำลังสาดส่อง พร้อมทั้งอ้าปากกว้าง ก่อนที่จะยืนนิ่งอยู่อย่างนั้น
เมื่อจ่าฝูงหนูป่าเดินนำแถวฝูงหนูออกมาจากถ้ำ ก็เห็นว่ามีแร็กคูนยืนทำท่าทางแปลกๆ อยู่ จึงเดินเข้าไปซักถามด้วยความแปลกใจว่า “เจ้ามาจากไหน ทำไมต้องยืนขาเดียว ทำไมต้องหันหน้ารับแสงแดด และทำไมต้องอ้าปากค้างไว้”
เจ้าแร็กคูนจึงแนะนำตัวเองว่า “ข้ามาจากป่าฝั่งตะวันออก ข้ายืนขาเดียว เพราะรู้สึกสงสารผืนแผ่นดินที่ต้องแบกรับภาระจากน้ำหนักขาทั้งสามของข้า ข้าหันหน้าหาพระอาทิตย์เพื่อซึมซับพลังงานจากแสงแดด ข้าอ้าปากค้างไว้เพื่อกินลม เนื่องจากข้าไม่ยอมกินอย่างอื่น”
ได้ยินดังนั้น จ่าฝูงหนูป่าจึงรู้สึกตื้นตันยิ่งนัก จึงบอกกับฝูงหนูป่าว่า ให้แสดงความเคารพแด่ผู้มีคุณธรรมสูงส่งท่านนี้ ด้วยการคำนับทุกวันทั้งเช้าและเย็น ครั้นแล้วเมื่อจ่าฝูงหนูป่าเดินนำฝูงออกไป หนูป่าตัวท้ายแถวก็หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย
เวลาผ่านพ้นไป เหล่าฝูงหนูป่าต่างก็รู้สึกว่า เมื่อก่อนในถ้ำมีสมาชิกอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างแออัด แต่ทำไมตอนนี้นับวันพื้นที่ว่างก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเพราะจำนวนหนูป่าลดน้อยลง ครั้นแล้วจึงได้นำเรื่องไปแจ้งกับจ่าฝูงหนูป่า ด้านจ่าฝูงหนูป่าเองก็รู้สึกฉงนใจว่าเป็นเพราะอะไร จนกระทั่งคิดได้ว่า หรือจะเป็นเพราะฝีมือของเจ้าแร็กคูนตัวนั้น
ดังนั้นเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อต้องออกจากถ้ำไปหากิน จ่าฝูงจึงให้หนูป่าตัวอื่นๆ เดินนำหน้าไปก่อน ส่วนมันก็เดินรั้งท้ายอยู่ปลายแถว โดยแร็กคูนก็ยังคงทำพฤติกรรมแบบเดิม ตวัดอุ้งมืออย่างเร็วที่สุด เพื่อคว้าหนูป่าตัวท้ายแถว ทว่าจ่าฝูงหนูป่าเร็วกว่า เมื่อหลุดรอดเงื้อมมือของแร็กคูนมาได้ มันจึงเริ่มวิ่งหนี พร้อมทั้งตะโกนบอกว่า แร็กคูนกำลังวิ่งไล่กวดมา เมื่อได้ยินดังนั้น หนูป่าทั้งฝูงจึงหันมาโอบล้อมและโจมตีเจ้าแร็กคูน จนกำราบมันลงได้ในที่สุด
จ่าฝูงหนูป่าจึงบอกกับเจ้าแร็กคูนว่า “เจ้าดำรงชีวิตอยู่ได้ ด้วยการตบตาหลอกลวงผู้อื่นเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าละอายยิ่งนัก”
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องนี้จบ จึงหันมาตรัสกับเหล่าสงฆ์สาวกว่า “ดูเถิด พวกท่านรู้หรือไม่ว่า แร็กคูนตัวนั้นก็คือ พระสงฆ์ที่พวกท่านบอกว่าชอบพูดโป้ปด หลอกลวงผู้อื่น ไม่สร้างประโยชน์กับตนเองรูปนั้น และจ่าฝูงหนูป่าตัวนั้นก็คือ อาตมาในตอนนี้ อาตมาสอนสั่งเขามาตลอด เมื่อเขาทำผิดก็ใช้ความรักไปชี้แนะเขา ทว่าอุปนิสัยดั้งเดิมนี้แก้ไขได้ยาก” ภิกษุรูปนี้มีแก่นรากแห่งกุศล ท่ามกลางสังสารวัฏก็ยังได้เกิดร่วมภพร่วมชาติกับพระพุทธองค์ เพียงแต่เขายังแก้อุปนิสัยของตนเองไม่ได้ จึงไม่เป็นที่ยอมรับของผู้คนอยู่เสมอ
จากเรื่องราวนี้ สอนให้เรารู้ว่า เราต้องหมั่นเตือนตนเองอยู่เสมอ ต้องดูแลรักษาสภาพจิตใจของตนเองให้ดี ปรับอุปนิสัยของตนเองให้เหมาะสม แม้จะเคยชินก็ต้องหมั่นเตือนตนเอง หวังว่าจะสามารถปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น จงอย่าลืมเตือนสติตนเองอยู่เสมอ