มีคนเคยกล่าวไว้ว่า ร่างกายของมนุษย์เราก็เหมือนกับ “ภาชนะบรรจุความดี” เราสามารถเกิดเป็นมนุษย์ สามารถรู้ซึ้งว่า มนุษย์เราเดิมทีนั้นเปี่ยมไปด้วยพุทธจิต เราก็ควรใช้โอกาสที่เราได้เกิดเป็นมนุษย์นี้ หมั่นเพียรบำเพ็ญธรรม เพราะเราไม่รู้ว่า จิตใจของเราแปดเปื้อนด้วยกิเลสจากภพชาติก่อนมามากน้อยเพียงใด ภายในจิตใจของแต่ละคนนั้น ล้วนสั่งสมกิเลสอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงมักจะเกิดการต่อสู้กันระหว่างความดีและความชั่วที่อยู่ภายในจิตใจอยู่เสมอ
เมื่อทราบว่าเป็นเรื่องที่ดีงาม เราควรศึกษาเรียนรู้ ทว่าก็มักจะมีอุปสรรคต่างๆ นานา มารั้งเราไว้เสมอ ราวกับว่า ความดีและความชั่วกำลังชักเย่อกัน หากความดีมีกำลังมากกว่า ความดีก็จะดึงเราเข้าไปหาสิ่งดีงาม ในทางตรงกันข้าม หากความชั่วมีกำลังมากกว่า ความชั่วก็จะดึงเราเข้าไปหาสิ่งชั่วร้าย ทำให้เราถูกกิเลสแปดเปื้อน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดจากจิตสรรค์สร้าง อย่างเช่นสภาพแวดล้อมมากมายที่เราพบเจออยู่ ก็มีสิ่งยั่วยุให้ทำความชั่วอยู่รอบตัวเรา เราจึงต้องตั้งมั่น รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ไว้ และนำจิตที่บริสุทธิ์ของเรา ชะล้างกิเลสออกไป ให้คืนสู่ความบริสุทธิ์ดังเดิม
รูปโดย ศุภักษร ธิกา
ลิงผู้เมตตา
มีลิงอยู่ตัวหนึ่ง ถึงแม้ว่ามันจะเป็นลิง แต่ก็เป็นลิงที่มีจิตใจงดงาม เพียรบำเพ็ญธรรมอยู่บนภูเขาในป่าลึก ด้วยจิตใจที่เมตตา จึงสามารถดูแลสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าเดียวกันได้ วันหนึ่ง ขณะที่มันกำลังเก็บผลไม้บนต้นไม้ ก็คล้ายกับได้ยินเสียงคนกำลังร้องขอความช่วยเหลือ มันคิดในใจว่า “หากไม่ไปช่วยเขา ใจของเราคงไม่เป็นสุขแน่” ดังนั้น มันจึงตามเสียงนั้นไป จนพบว่ามีชายคนหนึ่งตกลงไปอยู่ในหุบเขา หุบเขานั้นลึกมาก ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยหากจะลงไปช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่สามารถละทิ้งหน้าที่ของมันได้ ขอเพียงได้ช่วยเหลือ ไม่ว่าเป็นอย่างไร ลิงตัวนั้นก็ยินดี ดังนั้น มันจึงพยายามคิดหาวิธี เสี่ยงอันตรายปีนไต่ไปตามกิ่งไม้ ใบหญ้า หรือแม้แต่ก้อนหินหรือหน้าผา
เมื่อเห็นคนผู้นั้นได้รับบาดเจ็บ เจ้าลิงจึงบอกกับชายคนนั้นว่า “มาเถอะ มาขึ้นที่หลังของเรา เราจะแบกท่านขึ้นไปเอง” เนื่องจากเป็นหน้าผาสูงชัน ก้อนหินก็หยาบขรุขระ ลำพังแค่ปีนหน้าผาก็ยากลำบากอยู่แล้ว ยังต้องมาแบกคนไว้บนหลังอีก ดังนั้นเมื่อเจ้าลิงสามารถแบกคน ละปีนขึ้นมาจนถึงยอดเขาได้แล้ว มันจึงวางชายคนดังกล่าวลงบนพื้นดิน ส่วนตัวมันเองก็เหนื่อย จนหมดเรี่ยวแรง มันจึงบอกกับชายคนนั้นว่า “ท่านปลอดภัยแล้ว ท่านจงไปเสียเถิด” หลังจากนั้น มันจึงผลอยหลับไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยที่ใต้ต้นไม้
ชายผู้ที่ถูกเจ้าลิงช่วยเหลือ แม้จะรู้สึกขอบใจเจ้าลิงเป็นอย่างยิ่ง แต่ว่าตัวเขาเองก็รู้สึกเหนื่อย และหิวเป็นอย่างมาก เมื่อเห็นเจ้าลิงนอนหลับสนิท เขาจึงคิดว่า “สัตว์ทุกชนิด ล้วนเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ หากเรากินเนื้อของเจ้าลิงตัวนี้ ก็จะได้อิ่มท้อง และมีกำลังขึ้นแน่นอน”
เมื่อตัดสินใจแล้ว ชายผู้นั้นจึงหยิบก้อนหินขว้างไปที่ลิง เมื่อลิงถูกก้อนหินโยนเข้าใส่จนได้รับบาดเจ็บ มันจึงรีบปีนหนีขึ้นไปบนต้นไป มองลงมายังชายคนนั้นแล้วร้องไห้ โดยคิดในใจว่า “จิตใจของมนุษย์นั้น ช่างโหดร้ายถึงเพียงนี้เชียวหรือ เราอุตส่าห์ออกแรงช่วยเขาขึ้นมา แต่เขากลับไม่ได้สำนึกเลย หรือเป็นเพราะความดีของเรา ยังไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนจิตใจของเขาได้ เราจึงต้องรีบบำเพ็ญธรรมให้มากกว่า จะได้บริบูรณ์พูนผลทั้งความดีงาม และกำลังวังชา เพื่อจะสามารถโปรดชายผู้นี้ในกาลต่อไปได้”
นี่คือตัวอย่างของจิตอันบริสุทธิ์ และเจ้าลิงตัวนั้นก็คือ องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อหลายภพชาติก่อน พระองค์ทรงตั้งมั่น รักษาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ในหลายภพชาติเพื่อมาประสูติบนโลกมนุษย์ ไม่ว่าพระองค์ทรงประสบพบเจอกับเรื่องใดก็ตาม พระองค์ยังคงรักษาความรักความเมตตา จึงมีจิตใจที่ใสสะอาดบริสุทธิ์เฉกเช่นนี้ และไม่ว่าจะต้องพบเจอกับเรื่องใด ก็ไม่สามารถทำให้จิตใจของพระองค์มัวหมองได้
ดังในเรื่องเล่า พระองค์ไม่ทรงตัดพ้อว่า “เราช่วยท่านแล้ว ทำไมท่านยังจะสังหารเราอีก” พระองค์ไม่ทรงถือสาหาความ หรือโกรธกริ้วใดๆ กลับมีความเมตตา เห็นอกเห็นใจเหล่ามนุษย์ ทรงรู้ซึ้งว่าเพราะมนุษย์มีความเขลา จึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ ดังนั้นพระองค์จึงตั้งปณิธานว่า จะต้องมาโปรดมนุษย์ผู้นี้ให้จงได้ จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ แม้มีร่างกายไม่เหมือนกัน แต่ก็มีจิตใจเหมือนกัน เพียงยึดมั่นในจิตที่บริสุทธิ์ ก็จะสามารถเปลี่ยนความขุ่นหมองให้ใสสะอาดได้ นี่ก็คือ “การบำเพ็ญธรรม”
คนหรือสรรพสิ่งต่างๆ ที่เราต้องพบเจออยู่ทุกวัน ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจเราวุ่นวายหรือทำให้เรารู้สึกว่าต้องอยู่ในสภาวะจำทนใช่หรือไม่ แต่หากเรามีจิตใจที่ตั้งมั่นอยู่ในความดีงามอยู่ตลอดเวลาแล้ว สภาพแวดล้อมใดๆ ก็มิอาจมีผลกระทบต่อจิตใจของเราได้ ทั้งยังจะทำให้เราเกิดจิตสำนึกคุณ ที่มีสิ่งเหล่านั้นมาช่วยขัดเกลาจิตใจ
การเรียนรู้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์นั้นเป็นเรื่องที่ง่ายมาก นั่นก็คือ ดูแลรักษาบุญสัมพันธ์ที่มีระหว่างกันให้ดี เพราะบุญสัมพันธ์ เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่อยู่ในจิตใจเรา และเป็นสภาพแวดล้อมที่เราสัมผัสอยู่ หากเราสามารถขัดเกลาความชั่วให้กลายเป็นความดี ทั้งมนุษย์และสรรพสิ่งต่างๆ ก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว