ในชีวิตประจำวันของเรานั้น หากเรามีจิตใจมุ่งมั่นในภาระหน้าที่ของตัวเอง ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ชีวิตย่อมมีความสุข แต่หากเราไม่ยินดีในหน้าที่หรือบทบาทของตัวเอง ไม่พอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ มัวแต่อิจฉาคนอื่นไปวันๆ เราก็จะรู้สึกทุกข์ใจ ใช้ชีวิตโดยไม่มีความสุข
พระพุทธเจ้าจึงมักสอนเราอยู่เสมอว่าจงฝึก “ให้จิตสงบนิ่ง” ทำจิตใจให้สงบในสิ่งที่ตนมี ในหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมาย หรือในบทบาทที่ตนเป็น แต่หากเราไม่พอใจในสิ่งที่เราเป็นแล้ว มักจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นว่าเขาดี เขาเก่ง เขามีความสามารถ เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ต่อให้เปรียบเทียบกับคนอื่นเท่าไร ก็ยังคงไม่มีวันเปรียบเทียบได้อยู่ดี ฉะนั้น เราทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด พอใจในสิ่งที่ตนมี ซึ่งในตอนแรกนั้น เหล่าสานุศิษย์ยังไม่รู้ว่าการฝึก “ให้จิตสงบนิ่ง” ควรทำเช่นไร พระพุทธเจ้าจึงตรัสเล่าเรื่อง “ช่างทำรองเท้าฝันว่าได้เป็นราชา”
ภาพโดย บุษรา สมบัติ
ช่างทำรองเท้าฝันว่าได้เป็นราชา
พระราชาผู้หนึ่ง แม้จะมีชีวิตที่สุขสบาย ร่ำรวยโอ่อ่าในพระราชวัง ทว่า พระองค์กลับไม่มีความสุขเลย วันหนึ่งจึงมีพระราชประสงค์จะใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชน จึงเปลี่ยนฉลองพระองค์เป็นชาวบ้านและออกนอกวังไป พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพ่อค้าใช้ชีวิตอย่างอิสระ แม้แต่ผู้ใช้แรงงานก็ยังมีความสุข ในขณะนั้น พระองค์ทอดพระเนตรเห็นชายชราคนหนึ่ง กำลังซ่อมรองเท้าอยู่ข้างถนน พระองค์จึงเสด็จไปพูดคุยกับชายชราคนนั้น
“คุณตาเป็นช่างซ่อมรองเท้าลำบากไหมครับ” พระราชาตรัสถาม
“ลำบากสิพ่อหนุ่ม” ชายชราตอบ
“ผมนึกว่าเป็นช่างทำรองเท้าจะสบายเสียอีก ทำไมถึงคิดว่าลำบากล่ะ
แล้วคุณตาคิดว่าใครที่มีความสุขมากที่สุด” พระราชาตรัสถาม
“ข้าได้ยินมาว่าในวังหรูหราโออ่าราวกับสรวงสวรรค์ มีเพียบพร้อมทุกสิ่งทุกอย่าง
ข้าจึงคิดว่า พระราชาน่าจะมีความสุขที่สุด” ชายชราตอบ
เมื่อได้ฟังความคิดเห็นของชายชราดังนั้นแล้ว พระราชาจึงประสงค์จะให้เขาลองมาเป็นพระราชา ดังนั้น จึงได้มอมเหล้าเขา เมื่อชายชราหลับแล้ว จึงสั่งให้คนพาเข้าไปในวัง พร้อมกับตรัสบอกกับทหารและนางกำนัลในวังว่า “เราจะเล่นเกมสักหน่อย ขอให้ทุกคนร่วมมือกับเราด้วย” ทุกคนต่างก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เมื่ออาบน้ำให้ชายชราเสร็จแล้ว ก็เปลี่ยนชุดฉลองพระองค์ของพระราชาให้
เมื่อชายชราตื่นขึ้นมา ก็รู้สึกว่าตนเองอยู่ในสถานที่หรูหราโอ่อ่า แปลกประหลาดใจว่า ทำไมจึงได้สวมใส่เสื้อผ้าดีๆ เช่นนี้ กำลังฝันไปหรือเปล่า ในขณะที่ชายชรากำลังงุนงงอยู่นั้น เหล่านางกำนัลก็เดินเข้า พร้อมกับพูดว่า “ฝ่าบาท พระองค์ตื่นแล้วเหรอเพคะ รีบล้างพระพักตร์ ล้างพระหัตถ์ แล้วมาเสวยพระกระยาหารสิเพคะ” ชายชรารับประทานอาหารเช้าอย่างอิ่มหนำสำราญ จากนั้นการแสดงระบำก็เริ่มต้นขึ้น
ในระหว่างนั้นมีเสนาอำมาตย์เข้ามาแล้วพูดว่า “ฝ่าบาท มีเสนาอำมาตย์รอปรึกษาเหตุบ้านการเมืองกับพระองค์อยู่ข้างนอก และมีเอกสารอีกมากมายให้พระองค์ตรวจตราศึกษา” ว่าดังนั้นแล้ว เสนาอำมาตย์ก็นำชายชราในบทบาทพระราชาไปยังท้องพระโรง ชายชราเห็นเสนาอำมาตย์มากมาย แต่ก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่พวกเขาพูด แล้วอย่างนี้จะช่วยจัดการหรือรับมือกับเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างไร
หนึ่งวันกับบทบาทของพระราชา ชายชรารู้สึกลำบากและเหนื่อยล้ามาก เมื่อถึงเวลาของอาหารมื้อค่ำ นางกำนัลจึงได้มอมเหล้าจนชายชราเมาหลับไป พระราชาตัวจริงเสด็จออกมา และรับสั่งให้เปลี่ยนชุดชายชราให้เป็นแบบเดิม จากนั้นจึงนำเขาไปส่งที่บ้าน เมื่อชายชราตื่นขึ้นก็พบว่า ตัวเองกลับมาสวมใส่เสื้อผ้าเก่าๆ เหมือนเดิม ชายชรางุนงงสงสัย “ตกลงข้าไม่ได้เป็นพระราชาหรือ หรือว่าข้าเป็นเพียงแค่ชายชราช่างซ่อมรองเท้ากันแน่”
พระราชาเสด็จมาพบชายชราและตรัสถามว่า
“ทำไมคุณตาไม่ลุกขึ้นมาซ่อมรองเท้าล่ะ”
ชายชราตอบว่า
“เหมือนข้าจะฝันว่า ได้เป็นพระราชา ข้าเหนื่อยมากๆ เลย”
เมื่อตรัสเล่าถึงตรงนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสกับสานุศิษย์ว่า “มนุษย์เกิดมาล้วนแต่ต่างกรรม ต่างวาระ หากเราหมั่นฝึกจิตใจให้สงบ ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เราก็จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข คนเรารู้สึกเป็นทุกข์เพราะความกลัดกลุ้มในจิตใจ หากใจเราเป็นสุข อยู่ที่ใดก็ย่อมมีความสุข ”
ในเรื่องเล่าจะเห็นว่า ชายชราผู้ซึ่งเป็นช่างซ่อมรองเท้า แม้ว่าเขาจะยากจน แต่เขาก็เป็นคนที่มีฝีมือ สามารถทำรองเท้า ซ่อมรองเท้าได้ หากชายชราผู้นี้พอใจในสิ่งที่มีอยู่ เขาก็จะมีความสุขตลอดชีวิตของเขา ไม่จำเป็นต้องอิจฉาคนอื่น หรือไม่จำเป็นต้องใฝ่ฝันที่จะเป็นพระราชาเลย
เดิมทีชีวิตคนเราก็เหมือนความฝัน อย่างเช่น ชายชรา ที่เป็นช่างซ่อมรองเท้าจนแก่เฒ่า อย่างนี้ไม่เรียกว่าความฝันหรือ ดังนั้น ตอนที่เขาได้ใช้ชีวิตเช่นพระราชา เขาได้คิดว่าก่อนหน้านี้เป็นความฝันหรือไม่ เมื่อเขากลับสู่สภาพช่างซ่อมรองเท้าแบบเดิม เขาก็คิดว่า ตอนที่เขาเป็นพราะราชาอาจจะเป็นแค่ความฝัน ชีวิตเราก็เหมือนกับความฝันหรือภาพลวงตา ผ่านมาแล้วผ่านไปรวดเร็วดั่งน้ำค้างหรือฟ้าแลบ ทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง หากเราทำจิตใจให้สงบนิ่ง ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด เราก็จะมีความสุข ฉะนั้น ขอให้ทุกคนจงหมั่นดูแลจิตใจของตน ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด