เราควรรู้ว่า เมื่อทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว เราไม่เพียงต้องทำดีทุกวัน แต่ยังต้องหลีกเลี่ยงการทำชั่วจากความคิดชั่วอีกด้วย ไม่เพียงต้องระมัดระวังตัวเอง แต่เมื่อเห็นผู้อื่นทำดี เราก็ต้องรู้จักชื่นชมยินดี เมื่อเห็นผู้อื่นทำชั่ว ก็ต้องใช้ความตั้งใจและความสามารถเพื่อไปโน้มน้าวเขา ให้ออกห่างจากความชั่วนั้น เพราะการทำชั่วทั้งๆ ที่รู้ หรือการวางเฉยทั้งๆ ที่รู้ว่าผู้อื่นทำชั่ว ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ดังเรื่องเล่าในพุทธคัมภีร์ตอนหนึ่ง ที่สามารถเตือนใจเราได้
ภาพโดย บุษรา สมบัติ
การแก้แค้นของผีพรายน้ำ
นอกเมืองมีนักบวชซึ่งออกบิณฑบาตเป็นประจำทุกวัน ในเมืองก็มีพ่อค้า ซึ่งทำมาหากินด้วยการฆ่าและขายเนื้อหมู พ่อค้าผู้นี้ชอบทำบุญสร้างกุศล ทุกครั้งที่นักบวชเข้ามาในเมือง ก็จะกุลีกุจอนำสิ่งของมาถวายใส่บาตรจนเต็ม
เมื่อพ่อค้าผู้นี้แก่ชราและเสียชีวิตลง เขาก็กลายเป็น “ผีพรายน้ำ” ในแม่น้ำคงคา ได้รับความทุกข์ทรมานจากโซ่มีดอันแหลมคม ที่บาดไปทั่วร่างกาย อย่างไม่หยุดหย่อน
ในใจเขาเต็มไปด้วยความเคียดแค้นว่า ข้าก็ทำบุญทำทาน แต่ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ได้ นักบวชก็รู้ว่าข้าฆ่าสัตว์เพื่อเอาเนื้อมาขาย แต่ก็ไม่เคยตักเตือนข้า ปล่อยให้ข้าทำชั่วโดยที่ไม่รู้ตัว ดังนั้นข้าจึงเกลียดนักบวชผู้นี้เป็นอย่างมาก
วันหนึ่ง นักบวชนั่งเรือข้ามแม่น้ำคงคา บนเรือมีคนอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเรือแล่นมาได้ครึ่งทาง ผีพรายตนนี้ ก็โผล่จากน้ำขึ้นมาขวางทาง ดันเรือไว้และพยายามคว่ำเรืออย่างสุดความสามารถ
เมื่อนักปราชญ์ผู้หนึ่งบนเรือ เห็นความดุร้ายของผีพรายน้ำ จึงถามขึ้นว่า "ทำไมเจ้าจึงโผล่ขึ้นมาจากน้ำแล้วจับเรือไว้ไม่ยอมปล่อย"
ผีพรายน้ำจึงทำหน้าตาดุร้าย ชี้ไปยังนักบวช แล้วพูดขึ้นว่า "เป็นเพราะนักบวชผู้นี้ ตอนข้ายังมีชีวิตอยู่ ได้ทำบุญตักบาตรให้ เขารู้ทั้งรู้ว่าข้าทำชั่ว แต่กลับไม่ยอมตักเตือนข้า ไม่ได้ให้ธรรมทานแก่ข้าเลย ดังนั้นข้าจึงตกอยู่ในภพภูมิของภูติผี ได้รับความทุกข์ทรมานเช่นนี้ ข้าเคียดแค้น เลยจะทำให้นักบวชผู้นี้ลงจากเรือ ไม่เช่นนั้นข้าก็จะคว่ำเรือทั้งลำ"
นักปราชญ์จึงพูดขึ้นว่า "ตอนที่ยังมีชีวิต เจ้าสร้างกรรมไว้มาก จนกลายเป็นผีได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ตอนนี้เจ้ายังจะมาทำร้ายนักบวช ด้วยใจที่เต็มไปด้วยความโกรธแค้นอีก ลองคิดดูเถิดว่า จะบาปหนักขึ้นอีกเท่าไร และต้องทนทุกข์ทรมานไปอีกนานแค่ไหน เจ้าก็รู้ว่า ทำชั่วย่อมได้ชั่ว แล้วทำไมเจ้าจึงไม่รีบปรับปรุงตัว ขจัดจิตที่คิดชั่วและความโกรธแค้นออกไป เพียงเท่านี้เจ้าก็สามารถหลุดพ้นได้แล้ว"
ผีพรายน้ำได้ยินดังนั้น จึงคิดได้ว่า "ข้าไม่ควรจองเวรจองกรรม เพียงเพราะเขาไม่ยอมบอกว่าข้าทำอะไรผิด ข้าจะโกรธทำไม เพราะทั้งหมดล้วนเป็นกรรม ข้าควรยอมรับผลจากความผิดที่ข้าเคยกระทำไว้ในอดีตแต่โดยดี อย่าไปทำร้ายผู้อื่นอีกเลย"
เมื่อคิดได้เช่นนั้น จึงพนมมือด้วยความละอายใจและสำนึกผิด ความโกรธเกลียดในใจได้มลายหายไปจนหมดสิ้น ในตอนนั้นเอง ที่กายของผีพรายได้ลอยขึ้นมาจากแม่น้ำคงคา และเป็นอิสระในที่สุด
------
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
เมื่อเรารู้ว่าอะไรคือ “ความดี” ก็ต้องรีบลงมือทำ
อะไรคือ “ความชั่ว” ก็ต้องระมัดระวัง
------
นอกจากจะสอนให้เราทำดีแล้ว ยังสอนว่า เมื่อเห็นผู้อื่นทำดี เราก็ต้องชื่นชมยินดีตาม เมื่อเห็นผู้อื่นทำชั่ว ก็ต้องชี้แนะด้วยความตั้งใจ
อีกทั้งยังสอนเราว่า เมื่อทำผิดไปแล้ว ก็อย่าได้สร้างกรรมเพิ่มอีก เมื่อทำผิดก็อย่าเก็บไว้ในใจ อย่าเกลียดชังผู้อื่น หากขจัดความคิดชั่วและความเกลียดชังได้ ก็ย่อมแก้วิบากกรรมได้ไม่ยาก
ดังนั้นในการดำเนินชีวิต อย่าดูแคลนว่าเป็นความดีเพียงเล็กน้อย เพราะทรายเม็ดเล็กๆ ก็รวมกันกลายเป็นเจดีย์ได้ อย่าดูแคลนในความชั่วเพียงเล็กน้อย เพราะน้ำหยดเล็กๆ รวมกันก็กลายเป็นแม่น้ำที่คว่ำเรือได้
เราอย่าดูแคลนว่าเป็นความดีเพียงเล็กน้อยแล้วไม่ทำ เรื่องเล็กน้อยแล้วไม่ช่วย เราต้องรู้ว่า ความดีเล็กๆ เมื่อสั่งสมรวมกันเข้าก็จะกลายเป็นมาก หากเราพูดดีกับทุกคน ให้ทุกคนได้ฟังแต่สิ่งดีๆ จากเรา เมื่อรวมสิ่งที่ทุกคนได้ยิน ก็ย่อมมีแต่สิ่งดีๆ จำนวนมาก
ดังเช่นสายน้ำที่โปรยปรายลงมา ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใหญ่หรือต้นหญ้าเล็กๆ ล้วนแต่ได้รับประโยชน์เท่าเทียมกัน เราทำดีก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว อย่าไปแบ่งแยกว่าเป็นน้ำฝนที่มากหรือน้อย แม้จะเป็นเพียงน้ำค้างหยดเล็กๆ แต่มันก็คือน้ำ ดังนั้นแม้ฝนจะไม่ตก แต่น้ำค้างก็ยังทำให้โลกของเราชุ่มชื้นได้
ดังนั้น เราต้องไม่ดูแคลนว่าเป็นความดีหรือความชั่วแค่เพียงเล็กน้อยโดยเด็ดขาด อย่าคิดว่า มันไม่มีอะไรหรอก แค่ครั้งเดียวเอง เราทำแค่ครั้งเดียว หากทำครั้งหนึ่งแล้ว ก็ย่อมต้องมีครั้งต่อไป กลายเป็นนิสัยเสียที่เลิกไม่ได้ สั่งสมไปเรื่อยๆ เหมือนหยดน้ำที่รวมกันกลายเป็นแม่น้ำ น้ำฝนเองก็เกิดจากการรวมกันของฝนแต่ละหยด กลายเป็นสายน้ำที่ไหลบ่า และทำผิดไปเพราะดูแคลนว่าเป็นเพียงความชั่วเล็กน้อยเท่านั้น
ดังนั้น เราจึงต้องดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก