กว่าจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นยาก เราจึงต้องใช้โอกาสนี้อย่างรู้คุณค่า ไม่ว่าจะกับใครหรือสิ่งไหน ทั้งในเวลา สถานที่และบุคคลต่างๆ “เวลา” คือ ต้องรู้จักใช้ทุกเวลาเพื่อบำเพ็ญตน ไม่ว่าเมื่อไรก็ล้วนเป็นเวลาที่เหมาะสม “สถานที่” คือ ทุกหนทุกแห่งบนโลกอันกว้างใหญ่ไพศาล ไม่ว่าอยู่ที่ไหน จิตใจก็สามารถพิจารณาสิ่งต่างๆ รอบตัว จนรู้แจ้งได้ ไม่ว่าเป็นสถานที่ไหนก็ล้วนดีต่อการบำเพ็ญตน แต่ที่ดียิ่งกว่าก็คือ “สถานธรรมท่ามกลางผู้คน” เพราะ ณ ที่แห่งนี้ เราสามารถมองเห็นโลก เห็นเรื่องราว และลักษณะของคน เป็นต้น แค่เพียงจิตใจของเราไม่แปดเปื้อน สรรพสิ่งล้วนเป็นธรรมะที่สอนให้เราเกิดปัญญาได้
รูปภาพโดย พิณญ์ธิชา จันทร์สุขศรี
เจ้าของร่วม 5 จำพวก
ณ อาณาจักรแห่งหนึ่ง ซึ่งพระราชาทรงปกครองประชาชนด้วยความขยันหมั่นเพียร ทำให้ผู้คนต่างอยู่เย็นเป็นสุข แต่พระองค์ไม่เคยเสด็จไปทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของประชาชนเลย มหาอำมาตย์จึงทูลว่า “ฝ่าบาท ข้าพเจ้าขอเสนอแนะให้พระองค์ เสด็จไปทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของพสกนิกรดูบ้างว่าเป็นอย่างไร” ซึ่งพระราชาก็ตอบตกลง
พระองค์เห็นประชาชนมั่งมีศรีสุข ตึกรามบ้านช่องสวยสดงดงาม ถึงขั้นนำเงินและทองมามุงกระเบื้องหลังคาเลยทีเดียว พระราชาจึงทรงดำริว่า “เมื่อประชาชนร่ำรวยกันถึงขนาดนี้ อาจจะทำให้ถูกอาณาจักรอื่นมาปล้นสะดมเข้าสักวันหรือเปล่า” ดังนั้นพะราชาจึงรู้สึกว่า ต้องมีอาวุธที่ทรงอานุภาพเพื่อใช้ในการป้องกันอาณาจักรให้ดีกว่านี้ จึงมีพระบรมราชโองการ สั่งให้เศรษฐีนำทรัพย์สินเงินทองมามอบให้กับท้องพระคลัง เพื่อนำไปซื้ออาวุธ หลังจากประกาศนี้เผยแพร่ออกไป ผู้คนต่างก็ตกอกตกใจไปตามๆ กัน
ต่อมา พ่อค้าผู้มั่งคั่งและมีกิจการใหญ่โตผู้หนึ่ง ได้นำสมุดบัญชีที่จดบันทึกทรัพย์สินของตนเอง เอาไว้อย่างละเอียดไปถวายให้กับพระราชา พร้อมทั้งทูลว่า “ทรัพย์สินส่วนตัวของข้าพเจ้าทั้งหมด ได้จดอยู่ในสมุดเล่มนี้แล้ว เชิญพระองค์ทอดพระเนตร”
เมื่อพระราชาเปิดออกดู จึงตรัสด้วยความโกรธว่า “ท่านร่ำรวยมหาศาลขนาดนี้ กล้าดีอย่างไรมาหลอกเราว่า มีเงินเพียง 30 ล้าน”
พ่อค้าผู้มั่งคั่งจึงตอบว่า “เงินเหล่านี้คือเงินส่วนตัว ที่ข้าพเจ้าใช้จ่ายอย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญทำทานช่วยเหลือผู้ยากไร้ หรือบำรุงพุทธศาสนา หรือส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยของนักการศึกษา ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตพวกเขา ส่วนทรัพย์สินที่เหลือ มีเจ้าของร่วม 5 จำพวก”
พระราชาตรัสถามว่า “อะไรคือเจ้าของร่วม 5 จำพวก”
พ่อค้าจึงอธิบายว่า “หนึ่งคือไฟ สองคือน้ำ สามคือโจรขโมย สี่คือราชการ ห้าคือลูกหลาน ฟ้าดินไม่แน่นอน เมื่ออุทกภัยมาถึง ทรัพย์สินก็ถูกพัดพาไปจนหมด ไฟเพียงคบเพลิงเดียว ทรัพย์สินก็มอดไหม้ชั่วพริบตา โจรขโมยชั่วร้ายจะมาปล้นสะดมเมื่อไร ข้าก็มิอาจคาดการณ์ได้ และสถานการณ์ดังเช่นขณะนี้ เมื่อพระราชาทรงมีดำริว่าจะซื้ออาวุธ จึงขอให้บรรดาเศรษฐีนำเงินมาส่งท้องพระคลัง สุดท้ายก็คือลูกหลานที่อกตัญญู ที่สำมะเลเทเมาจนผลาญเงินที่มีอยู่จนหมด เหล่านี้คือ เจ้าของร่วมทั้ง 5 ดังนั้น เมื่อไม่แน่ว่าจะสามารถเก็บรักษาทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้นไว้ได้ ข้าจึงไม่กล้าคิดว่าเป็นสมบัติของข้า”
พระราชาจึงตรัสว่า “ข้าเข้าใจแล้ว ถ้าอย่างนั้นจงขอให้ท่านนำเงินกลับไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ บำรุงพุทธศาสนาและสนับสนุนนักการศึกษาต่อไปเถิด ขอบคุณที่ทำสิ่งดีๆ ให้กับอาณาจักรมากมายถึงเพียงนี้ ในเมื่อทรัพย์สินของท่านมีเจ้าของร่วม 5 จำพวก ข้าก็ขอให้ท่านจงตั้งใจประกอบกิจการให้เจริญรุ่งเรือง จะได้มีกำลังทำประโยชน์เพื่อสังคมต่อไป” พ่อค้าจึงกล่าวขอบคุณ
จากนั้น พระราชาจึงประกาศยกเลิกพระบรมราชโองการ คืนทรัพย์สินกลับไปให้บรรดาเศรษฐี พร้อมทั้งนำข้อคิดของพ่อค้า ไปอบรมพสกนิกรทั้งหลายว่า เงินกำไรที่เหลือ ควรนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
อาตมาพูดเสมอว่า คนเรามักจะ “มีหนึ่งแต่ขาดเก้า” แต่ถ้าเราสามารถ “มีสิบสละหนึ่ง” ได้ ชีวิตก็จะเป็นสุข พ่อค้าผู้มั่งคั่งท่านนี้ นำเงินส่วนตัว 30 ล้านของตนเอง ไปใช้เพื่อช่วยเหลือสังคม ถือเป็นหนึ่งในวิธีจัดการทรัพย์สินที่ถูกต้อง หากคนเรา “มีหนึ่งแต่ขาดเก้า” ก็จะเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
ดังเช่น พ่อค้าผู้นี้ซึ่งมีทรัพย์สินมากมาย แบ่งใช้ส่วนตัวและช่วยส่วนรวม บางส่วนเป็นทุนทางธุรกิจ บางส่วนสำหรับช่วยเหลือผู้ยากไร้ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเข้าใจถ่องแท้แล้วว่า ทรัพย์สินทุกอย่างมีเจ้าของร่วม 5 จำพวก ไม่ว่าจำพวกไหนมาผลาญสิ่งเหล่านี้ไป เขาก็ไม่ได้รู้สึกเสียดาย นี่เรียกว่า “ปราศจากการรั่วไหล” ไม่เพิ่มและไม่ลด ชีวิตคนเรามีอะไรที่เพิ่มหรือลดบ้าง เมื่อไม่เพิ่มหรือลด ก็ย่อมปราศจากการรั่วไหล
หากทุกคนรู้ว่า เดิมทีทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนว่างเปล่า แล้วยังจะถือสาหาความกันอีกทำไม เมื่อไม่ถือสาหาความก็ไม่มีความทุกข์ หากมีทรัพย์สินมากมาย ก็ใช้เพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่น หากไม่มีก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ให้ใช้ชีวิตต่อไป
นี่คือสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนสั่ง ทุกอย่างล้วนกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน นั่นคือ “ความว่างเปล่า” หากทุกคนตระหนักถึงสัจธรรมข้อนี้ จิตใจก็จะปราศจากความกังวล เมื่อไม่กังวล ก็ไม่หวาดกลัว ไม่คิดฟุ้งซ่าน ไม่เพ้อฝัน
เนื่องจากบางคนไม่เข้าใจว่าชีวิตคือ “ความว่าง” ไม่เข้าใจว่าสรรพสิ่งล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะมองมุมไหน ก็จะเห็นถึงสัจธรรมข้อนี้ เช่น หากลองนำบางอย่างมาแยกองค์ประกอบออกจากกัน สุดท้ายแล้วมันคืออะไร หากคุณแบ่งย่อยไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดก็คือศูนย์ การแบ่งส่วนจากใหญ่ไปหาเล็ก หรือการรวมจากเล็กไปหาใหญ่ เหล่านี้คือกฎแห่งธรรมชาติ
โต๊ะตัวหนึ่ง เดิมทีไม่ใช่โต๊ะ แต่เป็นท่อนไม้ แล้วไม้มาจากไหน เดิมทีคือต้นไม้ที่งอกขึ้นมาจากดิน มันเป็นต้นไม้พันธุ์ใด อาจจะไม่ใช่พันธุ์เดียวกัน อยู่ในดินจะต้องมีทั้งเมล็ดพันธุ์ มีดิน มีน้ำ มีแสงแดด และอื่นๆ อีกมากมาย รวมกันเข้าจนก่อเกิดเป็นหลากหลายรูปแบบ ในทางกลับกัน เมื่อลองแบ่งย่อยลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วก็จะเหลือเพียงความว่างเปล่า หากเข้าใจในสัจธรรมข้อนี้ เชื่อว่าโลกของเราก็จะปราศจากซึ่งการยึดติด